ว่านหางจระเข้ (Aloe) Aloe barbadensis Mill LILICEAE
ชื่ออื่น ว่านไฟไหม้ หางตะเข้
ตำรายาไทย
ใช้น้ำยางสีเหลืองจากใบเคี่ยวให้แห้ง เรียกว่า ยาดำ พบว่าเนื่องจากมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน แต่พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทย มีปริมาณน้ำยางน้อย ไม่อาจใช้ในการผลิตยาดำจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ใช้วุ้นสดของใบปิดขมับแก้ปวดหัว การทดลองกับผู้ป่วยพบว่า วุ้นสดใช้รักษาแผลไฟไหม้มีน้ำร้อนลวกแผลไหม้เกรียมจากแสงแดดและการฉายรังสี แผลสดแผลเรื้อรัง ตลอดจนกินเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ดี
วิธีใช้
ให้เลือกใช้ใบล่างสุด ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะอาจจะระคายเคืองผิวหนัง และทำให้มีอาการแพ้ได้ ขูดเอาวุ้นใสปิดพอกบริเวณแผล หรือฝานเป็นแผ่นบางปิดแผล พันด้วยผ้าพันแผลที่สะอาด เปลี่ยนวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น จนกว่าแผลจะหาย นอกจากนี้ ยังใช้วุ้นเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายประเภท เช่น แชมพูสระผม สบู่ ครีมกันแดด เป็นต้น สารที่ออกฤทธิ์เป็นกลัยโคโปรตีนชื่อ aloctin A ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และเพิ่มการเจริญทดแทนของเนื้อเยื่อที่แผล แต่มีข้อเสีย คือสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน ไม่ควรทิ้งวุ้นสดไว้เกิน 24 ชั่วโมง