Ran khaa ya
ที่เที่ยวโดดเด่น
 

ด่านเกวียน
มาถึงโคราชแล้วไม่ควรพลาดไปเยือนด่านเกวียน เพื่อชมการผลิตและเลือกซื้อหาเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายรูปแบบ ตามร้านค้าที่ตั้งอยู่เรียงรายสองฟากถนนนับหลายสิบร้าน
เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีชื่อเสียงลือเลื่องไปทั่วประเทศมีรูปแบบที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์สวยงาม ปัจจุบันชาวด่านเกวียนได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตในครัวเรือนคราวละจำนวนน้อยสู่ระบบการผลิตคราวละจำนวนมาก โดยมีช่างปั้นเป็นชาวบ้านด่านเกวียน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมการทำเครื่องปั้นดินเผาได้ภายในบริเวณร้าน
ที่ตั้งและการเดินทาง ริม ถ.โคราช-โชคชัย บ้านด่านเกวียน อ.โชคชัย ห่างจากตัวเมืองโคราชประมาณ 15 กม.
รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองโคราชไปตามทางหลวงหมายเลข 224 (โคราช - โชคชัย) บ้านด่านเกวียนอยู่ก่อนถึงตัว อ.โชคชัย สังเกตได้ง่ายจากร้านขายเครื่องปั้นดินเผาที่เรียงรายอยู่สองฟากถนน
รถประจำทาง นั่งรถโดยสารโคราช - โชคชัย - ครบุรี มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ประวัติ หมู่บ้านด่านเกวียนเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล เคยเป็นที่พักกองคาราวานเกวียนสินค้าขึ้นล่องระหว่างโคราช - เขมร จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "ด่านเกวียน"
ชาวบ้านด่านเกวียนทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก และทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพเสริม ดินที่นำมาทำเครื่องปั้นดินเผานั้นมีลักษณะพิเศษคือเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียด มีแร่เหล็กผสมค่อนข้างสูง เมื่อนำไปเข้าเตาเผาจะออกเป็นสีโลหะมันวาว ดินดังกล่าวกับสายน้ำมูลที่ไหลผ่านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ยามน้ำหลากจะเอ่อท่วมท้น ชะดินเหนียวเนื้อละเอียดมาตกตะกอนในท้องนา เมื่อเสร็จจากการทำนาชาวบ้านจะลอกหน้าดินที่มีปุ๋ยตกค้างออก จากนั้นจึงขุดดินเหนียวข้างใต้นำไปทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นภาชนะใช้สอย เช่น ครก คนโท ไหปลาร้า เป็นต้น ใส่เกวียนออกขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็น ตามแถบลุ่มน้ำมูล กองเกวียนคาราวานสินค้าเป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานที่มีมาแต่โบราณ
ต่อมาในยุคการท่องเที่ยวบูม จากเดิมที่ร้านขายเครื่องปั้นดินเผาริมทางเพียงสามร้าน เจ้าของที่ดินริมถนนก็เริ่มลงทุนก่อสร้างอาคารทำร้านให้เช่า อีกทั้งในปี พ.ศ.2533 กลุ่มช่างปั้นได้ร่วมกันขอให้กรมทางหลวงขยายไหล่ทางให้กว้างขวางขึ้นเพื่อสะดวกแก่ร้านค้าและนักท่องเที่ยวที่มาแวะพัก จำนวนร้านค้าจึงขยายเป็นหลายเท่า
สิ่งที่น่าสนใจ
ถ ชมการผลิตและเลือกซื้อเครื่องปั้นดินเผา ร้านจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผานับหลายสิบร้านที่ตั้งอยู่สองฟากถนนนั้น บางร้านเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด้วย เช่น ร้านชาวดิน ดินเผา คุณสมาน โดยไม่ต้องติดต่อล่วงหน้า ร้านเหล่านี้จ้างชาวบ้านที่เป็นช่างปั้นมานั่งทำงานในร้าน
ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผา เริ่มจากการเตรียมเนื้อดินโดยการนวดและหมักดินด้วยเครื่องมือทุ่นแรง หากเป็นแบบโบราณจะใช้เท้านวดย่ำไปบนดินซึ่งต้องใช้เวลามาก จากนั้นจึงนำไปโม่แล้วอัดออกมาเป็นแท่ง ๆ เพื่อนำไปขึ้นรูปบนแป้นหมุน ช่างต้องการให้เป็นภาชนะใดก็อยู่ในขั้นตอนนี้ เมื่อขึ้นรูปตามที่ต้องการแล้ว จึงทำลวดลายด้วยวิธีเซาะร่อง ตกแต่งเก็บรายละเอียดจนเรียบร้อยสวยงามดีจึงนำไปผึ่งไว้ในร่มราว 20 วัน เหตุที่ไม่นำไปผึ่งแดดเพราะจะทำให้ดินแตก
เมื่อดินแห้งได้ที่แล้วจึงนำเข้าเตาเผาราว 24 ชม. หรือหนึ่งวันขั้นตอนการเผานี้ ช่างบางคนเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ หรือเคลือบผิวด้วยขี้เถ้าไม้ หรือหินฟันม้า เพื่อให้สีของดินจางลงหรือออกเป็นสีแดง เพราะคนซื้อเริ่มเบื่อสีเดิมซึ่งสีเข้มเกินไป เมื่อเผาจากเตาแล้วหากเป็นสมัยก่อนก็เป็นอันเสร็จกระบวนการผลิต แต่ปัจจุบันคนนิยมสีสันที่ดูเป็นของเก่าคลาสสิก จึงต้องตกแต่งทำสีให้ดูเหมือนของเก่าโบราณ
นักท่องเที่ยวที่สนใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาควรสังเกตที่เป็นของด่านเกวียนแท้ นอกจากจะสอบถามจากร้านค้าที่คุณมั่นใจแล้ว สีผิวของภาชนะต้องเป็นสีเหล็กแวววาว และถ้าลองเอานิ้วดีดดูจะมีเสียงใสกังวานคล้ายเสียงเคาะโลหะ

 

 
 
 

สมาชิกกลุ่มที่ 11 ชั้น ม. 5/4
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ. เมือง จ. นครสวรรค์
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน