- พระราชสมภพ และ การศึกษา
- เสด็จขึ้นครองราชย์
- พิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒
- สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่พระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีฉลู แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับ วันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร ครั้นในปีพุทธศักราช ๒๔๐๔ เมื่อพระชนมยุได้ ๙ พรรษา ทรงได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ ทรงได้รับเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิจประชานารถ ทรงได้รับตำแหน่งในการกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และว่าการกรมทหารบกวังหน้าตามลำดับ
เมื่อทรงเจริญพระชันษาพอสมควรแก่การศึกษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ได้ศึกษาทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี รัฏฐาภิบาล (รัฐศาสตร์) ราชประเพณี โบราณคดี ยิงปืน มวยปล้ำ กระบี่กระบอง อัศวกรรม คชกรรม และภาษาอังกฤษ โดยทรงอบรมสั่งสอนในวิชาเกี่ยวกับการปกครองและโบราณราชประเพณีด้วยพระองค์เอง ส่วนวิชาภาษาอังกฤษทรงจัดให้ศึกษากับ แหม่มแอนนา เลียวโนเว็นส์ (Anna Leonowens) ครูสตรีชาวอังกฤษที่สมเด็จพระราชบิดาจ้างเข้ามาสอยในพระบรมมหาราชวัง เป็นเวลานานถึง ๕ ปี ทำให้ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี
|
ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณีและเมื่อทรงลาสิขาบทแล้วได้เสด็จฯ ออกไปประทับอยู่ฝ่ายหน้า และได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อกับมิชันนารีชาวอเมริกันชื่อ นายชันเดอร์ (Chandler) พร้อมกันนั้นก็ทรงได้รับการอบรมศึกษาสรรพวิชาทั้งปวงจากบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และจากสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เอง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ติดตามใกล้ชิดในเวลาที่ทรงออกว่าราชการ นอกจากนี้ในเวลาที่พระราชบิดามีพระราชวินิจฉัยในข้อราชการก็มักมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เข้าเฝ้าเพื่อรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราชาธิบายในข้อราชการรวมไปถึงราชประเพณีต่างๆด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมพระองค์พระราชโอรสให้พร้อมที่จะปกครองบ้านเมืองต่อไปในภายหน้า
|