Ran khaa ya






 
ด้านการศึกษา

       การศึกษาของไทยแต่เดิมสอนกันในบ้าน วัด วัง ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาของเด็กชายโดยไม่มีระบบที่ชัดเจน แต่การปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้เกิดการศึกษาในระบบโรงเรียนขึ้น และเป็นการศึกษาของทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ซึ่งเป็นพื้นฐานการศึกษาที่สำคัญของชาติในปัจจุบัน        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ก่อนปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง ต่อมาเมื่อทรงปกครองประเทศอย่างเต็มพระองค์แล้ว ทรงมีพระราชดำหริที่จะสร้างความรู้เพื่อช่วยลูกทาสที่จะเป็นไทในวันข้างหน้า ดังนั้นในพุทธศักราช ๒๔๑๘ จึงโปรดเกล้าฯ ให้วัดทั้งหลายสอนหนังสือและเลขซึ่งจะเป็นประโยชน์แกทั้งลูกทาสและชาวบ้านทั่วไป และยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแพร่หลายยิ่งขึ้น เช่น โรงเรียนสวนอนันต์ที่วังนันทอุทยาน ทรงมีความตั้งพระทัยที่จะทำนุบำรุงการศึกษาให้เยาวชนของชาติทุกระดับมีโอกาสไดรับการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน
       ต่อมาทรงตั้งคณะกรรมการดำเนินการตั้ง "โรงเรียนสำหรับราษฎร" ขึ้นมาแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ที่กรุงเทพฯ และตั้งโรงเรียนแห่งอื่นๆตามมา โดยทั้งหมดตั้งอยู่ในวัด นอกจากนี้มีบางแห่งตั้งขึ้นโดยวัดและเอกชนร่วมกัน ปรากฏว่าถึงสิ้นปีพุทธศักราช ๒๔๒๘ มีโรงเรียนสำหรับราษฎร ๑๐ แห่ง นักเรียน ๒,๐๔๔ คน


       ระยะแรกราษฎรเข้าใจผิดว่าทางราชการตั้งโรงเรียนขึ้นพื่อนำเด็กไปเป็นทหารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีประกาศชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจให้ถูกต้อง และในพุทธศักราช ๒๔๓๐ ทรงตั้ง "กรมศึกษาธิการ" เพื่อให้เป็นหน่วยงานสำคัญสำหรับจัดการศึกษาเล่าเรียน และในพุทธศักราช ๒๔๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นจัดการเรื่องการการศึกษา โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็น "อธิบดี" (เทียบเท่าเสนาบดี) และมีความพยายามที่จะตั้งโรงเรียนตามเมืองใหญ่ในหัวเมือง เมืองละ ๑ แห่ง ใน ๒๐ เมืองต่อปี ซึ่งในโรงเรียนที่ตั้งขึ้นใหม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กหญิงได้เล่าเรียนเท่าเทียมกับเด็กชาย
       การปฏิรูปการศึกษามีความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๐ โดยทรงมีพระราชดำรัสให้ราชทูตไทยประจำอังกฤษคือ เจ้าพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล - ต่อมาคือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธบดี) และราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส คือพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ศึกษาแบบแผนการจัดการศึกษาของทั้งสองประเทศ แล้วรายงานส่งเข้ามาที่กรงเทพฯ รายงานที่สำคัญเป็นของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ที่ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๔๑ โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในประเทศไทยว่า ต้องมีการเตรียมการนักเรียนให้ดีเสียก่อนที่จะส่งไปเรียน "เหมือนกับได้ถากถางเกลารูปแล้วแต่ในกรุงเทพฯ" นั่นคือ ให้นักเรียนได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่ดีภายในประเทศก่อน แล้วจึงส่งไปเรียน ซึ่งจะทำให้เรียนได้ดีและเร็ว และมีความเห็นว่า การศึกษาในประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับความเจริญจากภายนอก จึงควรพัฒนาการศึกษาภายในประเทศให้มีมาตรฐานและพร้อมที่จะนำความรู้จากต่างแดนมาปฏิบัติจึงจะได้ผลดี
       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรึกษากับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (ต่อมาคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ให้ช่วยกันคิดจัดการศึกษาภายในประเทศ โดยทรงเน้นว่า "ขอให้ทรงช่วยกันคิดให้มากๆจนถึงรากเหง้าของการศึกษาในเมืองไทย" อีกทั้งทรงมีความห่วงใยว่า "เด็กชั้นหลังจะห่างเหินจากศาสนา จนเลยเปนคนไม่มีธรรมในใจมากขึ้น" และถ้า "เปนคนไม่มีธรรมเปนเครื่องดำเนินตาม คงจะหันไปหาทางทุจริตโดยมาก ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ใคร่ค่อยคล่อง ฤาโกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงคล่องขึ้นแลโกงพิศดารมากขึ้น"
       การปรึกษาหารือครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ มีการขยายการศึกษาในหัวเมืองเพิ่มขึ้น โดยกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงเป็นผู้รับผิดชอบ มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สนับสนุน และสอนกันในวัด โดยพระเป็นผู้สอน ซึ่งได้ผลดีเพราะปรากฏว่าเพียงหนึ่งปี จากพุทธศักราช ๒๔๔๑ - ๒๔๔๒ จำนวนนักเรียนและโรงเรียนในหัวเมืองเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒๐๐ หลังจากพระสงฆ์เข้ามาช่วยจัดการศึกษาในระยะแรกก็ได้โอนหน้าที่จัดการศึกษากลับคืนให้กระทรวงธรรมการรับผิดชอบดังเดิม และในพุทธศักราช ๒๔๔๕ ได้มีการจัดทำแผนการศึกษาฉบับใหม่ขึ้นโดยรับรูปแบบแผนการศึกษาของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแผนรวมที่ใหม่ที่สุดในเวลานั้นมาปรับใช้ นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีแบบแผนการจัดการศึกษาที่ชัดเจนและเป็นระบบ โดยแบ่งการศึกษาอกเป็น ๔ ระดับ คือ มูลศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นมา การศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ สายสามัญ กับสายวิสามัญ หรือสายอาชีวศึกษา ซึ่งต้องการให้ผู้เรียนไปประกอบอาชีพได้

       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษา ทั้งในด้านการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน และการเพิ่มจำนวนนักเรียน และเมื่อถึงพุทธศักราช ๒๔๕๓ โรงเรียนทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น ๓,๑๑๕ แห่ง นักเรียนรวม ๘๓,๙๖๖ คน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากนับจากพุทธศักราช ๒๔๒๘ เมื่อเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎร นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนพิเศษ เพื่อผลิตบุคคลเข้ารับราชการด้วย เพราะในเวลานั้นมีการปฏิรูปประเทศหลายด้าน โรงเรียนพิเศษที่ตั้งขึ้นในเวลานั้น เช่น สำนักฝึกหัดข้าราชการพลเรือน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๖ สถาปนาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจเจ้าอยู่หัว และสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ ฯลฯ ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาดโรงเรียนดังกล่าวได้เป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปประเทศทั้งในขณะนั้นและในเวลาต่อมา



เว็บไซต์นี้ ดูให้สวยด้วย IE. เวอร์ชั่น 5.0 ขึ้นไป ความละเอียด 800 X 600 Text Size Medium
โครงการประกวดเว็บไซต์เทิดพระเกียรติในหัวข้อ "พ่อหลวงปิยมหาราช" ของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา
สร้างสรรค์โดยนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอ เมือง จังหวัด นครสวรรค์
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน