้
|
|
|
ด้านสังคม
|
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็ฯว่าผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้นได้ความเหน็ดเหนื่อลำบากเวทนา จึงทรงยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน เป็นยืน เป็นเดิน ธรรมเนียมการถวายบังคมและกราบไหว้เปลี่ยนเป็นการโค้งศีรษะ และประกาศกำหนดระเบียบการแต่งการของ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง เมื่อเข้าเฝ้าฯในโอกาสต่างๆพร้อมกับมีการเขียนภาพประกอบอย่างชัดเจน แสดงไว้ที่ทิมดามในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งนับเป็นการเลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม ให้เหมาะสมกับกาลสมัยต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การยกเลิกระบบทาส (ทาสมี ๗ ชนิด ตามกฎหมายตรา ๓ ดวงที่บัญญัติขึ้นในรัชกาลที่ ๑ คือ ๑.ทาสสินไถ่ ๒.ทาสในเรือนเบี้ย ๓.ทาสได้มาแต่บิดามารดา ๔.ทาสท่านให้ ๕.ทาสช่วยมาแต่ทัณฑ์โทษ ๖.ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพพิกภัย(เมื่อยากหมากแพง) ๗.ทาสเชลยศึก)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาธรรม ทรงเห็นว่าการมีทาสอยู่เป็นการส่งเสริมให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง พระองค์จึงโปรดเลิกทาสให้เป็นไทยด้วยวิธีการละมุนละม่อม โดยทำไปตามลำดับขั้นดังนี้
๑.ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ โปรดให้ตรา พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยกำหนดว่า ลูกทาสที่เกิดแต่ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ อันเป็นปีแรกที่พระองค์ครองราชย์ให้ใชอัตราค่าตัวใหม่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ พออายุครบ ๘ ปี ก็ให้ถือว่าค่าตัวเต็มค่า จากนั้นให้เริ่มเกษียณอายุลงไปทุกปี จนกว่าอายุครบ ๒๑ ปี ก็ให้เป็นไทแก่ตัว ครั้นเป็นอิสระแก่ตัวแล้วห้ามการเป็นทาสอีก และทรงระบุโทษแก่ผู้ซื้อและขายไว้ด้วย
๒.เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ ในโอกาสที่พระองค์มีพระชนมายุครบ ๒ รอบ พระองค์ท่านทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ คิดวันละบาทเป็นเงิน ๘,๗๖๗ บาท (คิดจาก ๒๔ ปี) พระราชทานช่วยทาสที่ขายตัวอยู่กับนายเงินคนเดียวมาครบ ๒๕ ปี รวมทั้งลูกหลานของทาสนั้น อีกทั้งพระราชทานที่ทำกินให้ด้วย พระราชดำหริอันนี้มีผู้เจริญรอยตามมากช่วยให้ทาสเป็นอิสระได้เร็วขึ้นอีกทางหนึ่ง
๓.โปรดให้ตรา พระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙ ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ ให้ลดค่าตัวทาสเชลยทั้งปวงในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ให้เป็นอัตราเดียวกันหมด และเมื่ออายุครบ ๖๐ ปีแล้ว ก็ให้เป็นไทแก่ตัว ส่วนทาสสินไถ่ ถ้ามีอายุครบ ๖๐ ปีแล้ว ยังหาเงินไถ่มาไม่ได้ ก็โปรดให้เป็นไทเช่นกัน
๔.ทรงประกาศลดค่าตัวทาสในมณฑลบูรพาเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ โดยให้นายเงินลดค่าตัวทาสลงเดือน ๔ บาทจนกว่าจะหมด และห้ามซื้อขายทาสกันต่อไป
๕.โปรดให้ตรา พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ เพื่อใช้บังคับทั่วพระราชอาณาจักร
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน และใช้เวลาเพียง ๓๐ ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยที่มิได้เกิดการนองเลือดเหมือนกับประเทศอื่นๆเลย
นอกจากการยกเลิกระบบทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเลิระบบไพร่ด้วย ระบบไพร่เป็นระบบที่ราษฎรต้องมา "รับราชการ" หรือทำงานให้กับทางราชการ หรือส่งส่วยหรือเงินให้แก่บ้านเมือง เพราะการที่ไพร่ต้องสังกัดกับนายมูล ทำให้ไม่สามารถย้ายที่อยู่เพื่อการประกอบอาชีพได้ เป็นการขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากระบบการค้าเสรีตามสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และระบบไพร่อาจทำให้เกิดปัญหาความมั่นคง เพราะไพร่อาจไปขอขึ้นทะเบียนเป็นคนในบังคับต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีปัญหามูลนายทุจริตแสวงหาผลประโยชน์จากระบบไพร่ ทำให้เงินของรัฐรั่วไหล รวมทั้งมูลนายที่มีกำลังไพร่พลมากก็เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของราชสำนักด้วย
ดังนั้นจึงทรงเห็นว่าการจัดระเบียบใหม่ในสังคมให้มีทหารประจำการหรือทหารอาชีพแทนการใช้แรงงานในระบบไพร่เป็นสิ่งจำเป็น จึงมีการดำเนินงานหลายขั้นตอนเพื่อเลิกระบบไพร่ที่สำคัญ คือ การตั้งกรมทหารหน้าใน พุทธศักราช ๒๔๒๓ ซึ่งเป็นทั้งการฝึกทหารแบบใหม่และเป็นทั้งการรวบรวมไพร่ที่มูลนายถึงแก่กรรมและคนข้อมือขาว (คือผู้ที่ยังไม่ถูกสักขึ้นทะเบียน) มาเป็นทหาร เมื่อรับราชการช่วงเวลาหนึ่งก็จะพ้นพันธะตามแบบเก่าได้เร็วขึ้น นับได้ว่าทำให้พ้นจากสภาพการเป็นไพร่หลวง ถือเป็นการบุกเบิกการยกเลิกระบบไพร่ได้ทางหนึ่ง
|
|
|
|