|
|
การศึกษา
 |
พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรียนรู้ของราษฎร เพราะทรงตระหนักดีว่าเป็นวิธีการที่สามารถนำพาประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ได้มีการฟื้นฟูและส่งเสริมด้านวรรณคดีอย่างจริงจัง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีการรวบรวมและบันทึกสรรพวิทยาการหลายแขนงไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามจนได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองสยาม ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการเรียนการสอนวิชาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก ทั้งในด้านการทหาร วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ และภาษาอังกฤษ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ โดยทำเป็นขั้นตอนไป กล่าวคือ ทรงวางรากฐานระบบการศึกษาของชาติ ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาทั่วราชอาณาจักร ตั้งกรมศึกษาธิการวางแผนการศึกษาของชาติ ตั้งโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงขึ้นหลายสาขา เช่น โรงเรียนมหาดเล็กเพื่อฝึกหัดผู้ที่จะเข้าเป็นข้าราชการพลเรือน ซึ่งในรัชกาลที่ ๖ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนไปรษณีย์ โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนเกษตร เป็นต้น
กำเนิดโรงเรียนหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ณ บริเวณโรงทหารมหาดเล็ก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เจ้านายและบุตรหลายนของขุนนาง ต่อมาได้เปิดสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วย
 |
โรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวังในระยะแรกมีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกหัดคนเข้ารับราชการ การศึกษาจึงอยู่ในวงจำกัดเฉพาะพระราชวงศ์และชนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือนด้วยไม่จำกัดแต่เฉพาะทหารอีกต่อไป โดยมีหลวงสารประเสริฐ (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อสอนภาษาไทยสำหรับผู้จะเข้ารับราชการจึงนับเป็นโรงเรียนสอนภาษาไทยแห่งแรกของทางราชการ
หลวงสารประเสริฐ หรือต่อมาคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นผู้แต่งแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาร ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนกรมมหาดเล็ก แล้วยกขึ้นเป็น โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ต่อมาย้ายไปอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ"
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนมหาดเล็กเป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ต่อมาได้สร้างอาคารเรียนใหม่ในที่ดินพระคลังข้างที่ ตำบลปทุมวัน (ซึ่งได้แก่คณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบัน) และในปัจจุบันคือ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าควรให้ประชาชนได้รับการศึกษาในวิชาความรู้ด้วย จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นตามวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงและหัวเมือง
|
|
|
|
|