Ran khaa ya
         
 
 
 
 
ประชากรและคุณภาพชีวิต
  
     ประชากรเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการมีจำนวนประชากรและการกระจายตัวของประชากรที่ได้สัดส่วนเหมาะสมกับทรัพยากร ธรรมชาติรวมทั้งการมีประชากรที่มีคุณภาพจึงเป็นความปรารถนาสูงสุดของทุกประเทศ ส่วนประเทศไทยมีลักษณะของประชากรและคุณภาพของประชากรดังนี้
       1. จำนวนประชากร ประชากร หมายถึง ผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศโดยมีสัญชาติของประเทศนั้นอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ตลอดจนบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับ อนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 62 ล้านคน จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีประชากร น้อยที่สุด คือ ระนอง
       2. แนวโน้มจำนวนประชากรในประเทศไทย ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2490 - 2504 ประชากรมีอัตราเพิ่มขึ้นโดยประมาณเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 3.2 แต่หลังจากรัฐบาลรณรงค์ในเรื่องการวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง ใน พ.ศ. 2538 ประชากรได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.6
       3. องค์ประกอบของประชากร ลักษณะประชากรจำแนกเป็น องค์ประกอบย่อย ๆ คือ
       - อายุ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ วัยเด็ก ( 1 - 14 ) วัยทำงาน ( 15 - 65 ) และวัยชรา ( 65 ปีขึ้นไป ) เดิมสัดส่วนอายุประชากรเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว คือ มีวัยเด็กเป็นฐานกว้างแล้วเรียวเล็กขึ้นไปสู่ยอด ซึ่งเป็นวัยทำงานและวัยชรา แต่ปัจจุบันประชากรในวัยทำงานมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยภาระพึ่งพิง จึงทำให้สัดส่วนประชากรไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ถ้าสัดส่วนของประชากรวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าวัยอื่น ๆ ย่อมได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมมากกว่าประเทศหรือสังคมที่มีประชากรในวัยภาระเลี้ยงดูจำนวนมาก ๆ
      - เพศ สัดส่วนของเพศของประชากรชายหญิงของไทยไม่แตกต่างกันมากนัก คือมี จำนวนพอ ๆ กัน โดยมีเพศหญิงมากกว่าเล็กน้อย
      - เชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทย ( 90 % ) มีเชื้อชาติอื่นบ้างเล็กน้อย เช่น จีน หรือพวกชาวเขา
      - ศาสนา ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 95 นับถือพระพุทธศาสนา รองลงมาคือ ศาสนาอิสลามร้อยละ 4 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.5ประเทศไทยไม่เคยมี ปัญหา ความแตกแยกของประชากรอันเนื่องมาจากความแตกต่างในเรื่องศาสนา
      
- ภาษา ประชากรไทยส่วนใหญ่พูดภาษาเดียวกัน คือ ภาษาไทย แต่ถ้าอยู่ในท้องถิ่นของตนเองภาษาอาจจะพื้นไปบ้าง เช่น ภาษาถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ เป็นต้น ภาษาพื้นเมืองที่แตกต่างไปจากภาษาไทยที่สำคัญ ได้แก่ ภาษามาเลย์หรือยาวี

คุณภาพชีวิตของประชากร
       คุณภาพชีวิตของประชากร หมายถึง มาตรฐานการดำรงชีวิตอันเหมาะสม ของประชากรในสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือการทำให้มนุษย์มี ประสิทธิภาพและ มีคุณภาพในด้านการทำงานเพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ รวมทั้งการมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์และมีคุณธรรม การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชากรในแต่ละประเทศ จำเป็นต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่เกิดและต่อเนื่องจนถึงตาย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดความจำเป็นพื้นฐานหลัก ๆ ไว้ 6 ประการ ได้แก่ ด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือจัดการท้องถิ่นหรือบ้าน เมือง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และจิตใจในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพื่อเป็นเกณฑ์ในการประเมินสถานการณ์ ปัญหา ตลอดจนแนวทางในการพัฒนา คุณภาพชีวิต
วัตถุประสงค์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย
       1. เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนทางจิตใจให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมส่วนรวม
       2. เพื่อพัฒนาทุกคนให้สามารถคิดวิเคราะห์บนหลักของเหตุผล มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอย่าง ตลอดชีวิต มีโลกทัศน์กว้าง รวมทั้งมีประสิทธิภาพในกระบวน การผลิตสูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
       3. เพื่อส่งเสริมให้คนมีคุณภาพพลานามัยดีถ้วนหน้า มีความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ ้อย่างมีประสิทธิภาพ
       4. เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนกลุ่มด้อยโอกาสทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือ และได้รับบริการพื้นฐานทางสังคมทุกด้านอย่างเหมาะสมทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขและสมศักดิ์ศรี

องค์ประกอบคุณภาพของประชากร
       ประชากรไทยมีคุณภาพมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ
       1. การศึกษา คนไทยอ่านออกเขียนได้มากถึงร้อยละ 95 และได้รับการศึกษาภาคบังคับมากถึงร้อยละ 97 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
       2. สุขภาพอนามัย ประชากรไทยยังคงมีปัญหาในด้านนี้มากคือ
       - รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เด็กเป็นโรคขาดสารอาหาร
       - การบริการทางการแพทย์และอนามัยไม่ทั่วถึง
       - ประชากรส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและโรคผิวหนัง
       - อัตราการตายของทารกค่อนข้างสูง
       - อายุขัยเฉลี่ยของประชากรอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
       3. จริยธรรมและคุณธรรม คนไทยมักขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎหมาย ขาดความกระตือรือร้นต่อการงานและมีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราช การบางส่วนโดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีความกดดันและแข่งขันในสังคมอย่างสูงทำให้ประชากรในสังคมเมืองมักมีปัญหาทางด้านจริยธรรมและคุณธรรมสูง ตามไปด้วย นอกจากนี้องค์ประกอบของประชากรอาจขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ คือ การศึกษา การมีงานทำ และสุขภาพอนามัย

สถานการณ์คุณภาพชีวิตของประชากรไทยในปัจจุบัน
       1. ด้านการศึกษา การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของ ประชากรให้สูงขึ้น ส่วนความไม่รู้หรือการขาดการศึกษาเป็นการตัด โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขาดสุขภาพอนามัยที่ดี ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นตามมาและการมีชีวิตไม่ยืนยาว จากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2540 ปรากฏว่า ประชากรที่มีอายุสูงกว่า 6 ปีขึ้นไป มีการศึกษาเพียงร้อยละ 91.5 ของประชากรทั้งหมด โดยผู้ชายมีสัดส่วนของผู้มีการศึกษาสูงกว่าผู้หญิง ประชากร ภาคกลางมีอัตราการรู้หนังสือสูงกว่าประชากรในภูมิภาคอื่น ๆ
       2. ด้านสุขภาพอนามัย ประชากรในประเทศไทยโดยเฉพาะประชากรในชนบท มีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยเนื่องจากบริโภคอาหารได้ไม่เพียงพอหรือ ไม่ถูกตาม หลักโภชนาการ คือ กินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่สะอาด ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเป็นโรคง่าย ที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กในวัยที่กำลังเจริญ เติบโต หากไม่ได้บริโภคอาหารอย่างเพียงพอและเหมาะสม จะทำให้เกิดความชะงักงันในด้านการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมอง กลายเป็นผู้อ่อนแอและเฉื่อยชา และไม่ฉลาดเฉลียว นอกจากปัญหาทางด้านโภชนาการแล้ว ยังมีปัญหาในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประชาชนในชนบทมีโอกาสได้รับการบริการทางการ แพทย์และสาธารณสุขน้อยมาก เพราะอยู่ห่างไกลและมีฐานะยากจน การขาดสุขนิสัยที่ดี ไม่ระมัดระวังตนในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆก็เป็นสาเหตุสำคัญอีก อย่าง หนึ่งที่ทำให้ประชากรเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง โรคตา โรคระบบการหายใจ ซึ่งมีพบอยู่ทั่วไปในทุกภาค ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โรคที่กำลังแพร่หลายที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และทำลายคุณภาพชีวิตของประชากรไทยในปัจจุบันนี้ ได้แก่ โรคเอดส์
       3. ด้านการประกอบอาชีพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลัง พ.ศ. 2539 สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่ม เปลี่ยนแปลงไป เริ่มจากปัญหาด้านการเงินขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินต่าง ๆ อันมีผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังระดับชาติ ประชากรได้รับผลกระทบ จากนโยบายการปรับค่าเงินบาท การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศและการส่งออกเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเงินตรา กิจการต่าง ๆ ต้องปรับตัวและหลาย กิจการต้องล้มเลิกไป อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ประชาชนยากจนลง
       4. ด้านการมีส่วนในการพัฒนาหรือการจัดการท้องถิ่นหรือบ้านเมือง การมีส่วนร่วมมีผลโดยตรงต่อทั้งท่าทีและทัศนคติของบุคคลและต่อประสิทธิภาพของ การพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เมื่อบุคคลใดรู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมใด บุคคลนั้นก็มักจะมีท่าทีตั้งแต่เฉื่อยไปจนถึงต่อต้านกิจกรรมนั้น การพัฒนาใด ๆ ไม่อาจ เป็นไปได้เต็มที่ หากปราศจากการร่วมมือจากคนในชุมชนนั้น ๆ ในด้านนี้คนไทยส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในอัตราที่ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด หรือระดับชาติ เช่น พบว่าหมู่บ้านที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองมีเพียงร้อยละ 48 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากระบบการปกครอง ที่เน้นการบริหารจากส่วนกลางมาเป็นเวลานาน
       5. ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมไทยได้ชื่อว่ามีความสงบ ปัจจุบันไม่มีการรบพุ่งหรือการก่อการร้ายรุนแรงดังที่เกิดขึ้นในประเทศกำลัง พัฒนา หลายประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินพอสมควร พบว่าร้อยละ 95 ของ ครอบครัว ทั่วประเทศที่ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่ามีปัจจัยบางประการที่คุกคามต่อความปลอดภัย เช่น อิทธิพลในท้องถิ่น การแพร่ระบาดของอาวุธสงคราม การค้าและการเสพยาเสพย์ติด บ่อนการพนันและอบายมุขต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นบ่อเกิดของอาชญา
       6. ด้านจิตใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข คนไทยเป็นผู้มีน้ำใจ มีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสมอมา ปฏิบัติตามหลักศาสนา โดยเฉพาะชุมชนในชนบท มักมีความเป็นอยู่แบบพี่น้องมากกว่าชุมชนเมือง มีความร่วมมือร่วมใจในงานประเพณี กิจการสาธารณกุศล

ปัญหาประชากรไทยในปัจจุบัน
       1. คุณภาพการศึกษา คุณภาพการศึกษา ได้แก่ปัญหาการไม่รู้หนังสือ ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทยที่ถือได้ว่าเป็น อุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรมากที่สุด คือ ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา
       2. การว่างงาน การว่างงานส่งให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรม แหล่งชุมชนแออัด
       3. ความเสื่อมโทรมของศีลธรรม ความเสื่อมโทรมของศีลธรรม เช่น การแพร่ระบาดของยาเสพติดให้โทษ การก่ออาชญากรรมทางเพศ
       4. การอพยพย้ายถิ่นของคนในชนบทเข้าสู่เมืองทำให้เกิดปัญหาชุมชนเมือง การอพยพย้ายถิ่นของคนในชนบทเข้าสู่เมืองมีสาเหตุจากฝนแล้ง ผลผลิตราคา ตกต่ำ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ชุมชนแออัด การจราจร เป็นต้น ซึ่งยกเว้นปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภค
       5. ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยมีสาเหตุมาจากการขาดความรู้ บริการด้านอนามัยและสาธารณสุขของรัฐยังไม่เพียงพอพื้นฐานใน ปัญหา ด้านสาธารณสุขและอนามัยของประเทศไทย คือ ความยากจนและขาดการศึกษาของประชาชน
       6. ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการทำลายทรัพยากระรรมชาติมีสาเหตุจากความยากจนและขาดความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น การบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนเพราะขาดที่ดินทำกิน

การแก้ไขปัญหาประชากร
       สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาประชากรของประเทศไทย คือ การเพิ่มขึ้นของประชากร อย่างรวดเร็ว และการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจและ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นผลให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น ตัวเมืองอุตสาหกรรมขยายเพิ่มขึ้น ผู้คนต้องเร่งรีบแข่งขัน ฯลฯ
แนวทางแก้ไขต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ดังนี้
       1. ลดอัตราการเพิ่มของประชากร การลดอัตราการเพิ่มของประชากร โดยกำหนดนโยบายควบคุมอัตราการเพิ่มของประชากรให้แน่นอนและมีประสิทธิภาพ มีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ( พ.ศ. 2540 - 2544 ) ได้ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเพิ่มของ ประชากรให้เหลือเพียงร้อยละ 1.1 เมื่อสิ้นแผน ฯ
       2. ปรับปรุงคุณภาพของประชากร การปรับปรุงคุณภาพของประชากร โดยการเร่งขยายคุณภาพการศึกษาและให้บริการด้านสวัสดิการทางสังคมอย่างทั่วถึง เช่น การอนามัยและสาธารณสุข การแพทย์ และการสาธารณูปโภคประเภทไฟฟ้า ประปา รวมทั้งให้ประชากรเป็นผู้มีระเบียบวินัยมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นต้น
       3. ควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยกำหนดมาตรการทางกฎหมายให้รัดกุมและเคร่งครัดทางราชการควรถือ เป็น นโยบายอย่างชัดเจนที่จะควบคุมและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
       4. การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ระยะยาว โดยเน้นการพัฒนาภาคชนบทให้มากขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบทให้ดีขึ้นโดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน

 
 
 
 
 
 

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดี บนความละเอียด  800 x 600 pixels Text  Size  Medium
นายทศพร พวงสมบัติ  เลขที่ 2  และนางสาวสุทธิลักษณ์ ไหมทอง เลขที่ 20
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1  โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม
Copyright © 2004 ; All right reserved.

SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน