Ran khaa ya
 
 

                                                  

                                                 วิถีชีวิตของชุมชน

            วิถีชีวิตชาวบ้านโคกหม้อ สำหรับการจัดแบ่งหน้าที่วิธีชีวิตระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เป็นวัฒนธรรมแบบ หญิงทอผ้า ชายจักสาน ในอดีตผู้ใหญ่เล่าว่า มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ไว้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้า เพื่อทำเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหญิงสาวทุกคนต้องทอผ้าได้ เนื่องจากเป็นคุณสมบัติของสตรีที่ดีงาม และมีความพร้อมในการออกเรือน(แต่งงาน) เพราะจะได้รับไหว้เป็นของรับไหว้แก่ฝ่ายสามี ฝ่ายชายต้องมีความสามารถในการจักสาน ต้องจักสานเป็น เช่น จักสานกระบุง ตะกร้า กระด้ง ซ่อนไซ ฯลฯ เพื่อเตรียมการออกเรือนและทำการไถไม้ คราดไม้ เครื่องมือทำนา สานแ จับสัตว์น้ำ มีคำกล่าวว่า ถ้าทำไม่เป็นจะไม่ได้แต่งงานกับสาวบ้านโคกหม้อเป็นอันขาด
            ชุมชนบ้านโคกหม้อ ได้นำชีวิตของคนในชุมชมโดยนำเสนอเป็นคำขวัญ ซึ่งเป็นเชิงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ดังนี้

                                       “บ้านโคกหม้อ ผ้าทอมัดหมี่
                                       จักสานฝีมือดี ประเพณีแหธง
                                       นางดังนางกวัก ตักน้ำสรงพระ
                                       ก่อเจดีย์ทราย บายศรีสู่ขวัญ”

          

            ผ้าทอมัดหมี่
            เมื่อชุมชนลาวครั่งอพยพมา ไม่ได้มาแต่ตัว แต่ได้นำเอาศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาติดตัวมาด้วย ได้นำเอาผ้านุ่ง (จงกระเบน ผ้าซิ่น ผ้าถุง) ตีนจก ผ้าห่มสะไบ หมอนขวาน หมอนน้อย ประเพณีความเชื่อติดตัวมาด้วย จึงทำให้เกิดเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ สืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป
            การทอผ้าด้วยกี่มือ กี่โบราณที่ชุมชนลาวครั่งได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาจวบจนทุกวันนี้ เช่น การมัดหมี่ ป้อมสีด้วยสีธรรมชาติ ให้เกิดเป็นสีและลวดลายต่างๆมาประกอบเป็นผืนผืนเดียว พอสรุปลายที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านโคกหม้อได้ดังนี้ ลายขอดอกรัก ลายขอซ้อน ลายกาบ ลายด่านเมืองลาว ลายขอขื่อ ลายหมี่สิบซิ่ว ลายงูเหลือม ลายหมี่สำรวจ ลายดอกแก้ว ลายหมี่หลวง ลายกระเบี้ย หมี่ตาลายหงส์ ลายนาคเดียว ลายตีนกาบ ลายคันขั่ง ลายอึ่งยัน ลายตะเภา ลายคลองตุ้ม ลายขอซ้อน ลายผลมะระ(ผักหะ) ขิดไม้รอด ลายคองตุ้ม2ชั้น ลายขอก้ง

            จักสานฝีมือดี
            การจักสาน ชาวบ้านโคกหม้อโดยเฉพาะผู้ชาย ส่วนใหญ่จะจักสานเป็น เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการออกเรือน(แต่งงาน) โดยจะจักสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และใช้ในการดำรงชีวิต เช่น กระบุง ตะกร้า กระชุ กระติบ กระด้ง กระโซ้ ตระแกรง ซ่อนไซ ฯลฯ ในปัจจุบันมีการจักสานเป็นเชิงพานิชย์ ของที่ระลึก เช่น ตะกร้าหวาย ฝาชี ตะข้องเล็ก

            ประเพณีแห่ธง
            การแห่ธงจะปฏิบัติกันช่วงประเพณีสงกรานต์ ถือว่าเป็นการแห่ธงและปักธงเป็นการสิ้นสุดแห่งเทศกาลสงกรานต์ วิธีการชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันจัดทำธงในวงศ์เครือญาติ แต่เดิมเป็นธงผืนผ้า ประดับประดาด้วยดอกฝ้าย สมุด ดินสอ ไม้ขีดไฟ เทียนไข ผงซักฟอก พวงมาลัย เต่ารั้ง กระดาษสี และจะแห่จากบ้านไปวัด เวียนรอบโบสถ์ 3 รอบแล้วนำไปปักในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือน้อย เพราะภาวะทางเศรษฐกิจ สภาพของธงเปลี่ยนไป ปัจจุบันเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เช่น หม้อ จาน ชาม ฯลฯ และเงินทอง เมื่อปักแล้วก็มีการรำวงถวายกันอย่างสนุกสนาน ทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มสาวและเด็ก

            นางดัง นางกวัก
            เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชุมชนลาวครั่งบ้านโคกหม้อ ซึ่งมักเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ มักเล่นกันในตอนกลางคืนในหมู่บ้าน แบ่งการเล่นออกเป็น 2 อย่างคือ
“นางดัง” จะเรียกชื่อตามวัสดุอุปกรณ์ในการเล่น คือ กระด้ง ฝัดข้าว เป็นการเล่นทายหมอดู ทายเนื้อคู่ การเรียน ของหาย เจ็บไข้ได้ป่วย กระด้ง ที่ใช้เป้นอุปกรณ์หลักจะต้องเป็นของแม่หม้าย กระด้ง 1 อัน สากตำข้าว 1 คู่ คนเชิญ 2 คน เป็นการเชิญผีให้เข้ามาสิง อยู่ในกระด้งเพื่อให้คนทายซักถาม จะใช้วิธีนอนหรือเต้นขึ้นตามที่ผู้ถามจะบอกให้นางด้งทำว่าคำถามที่ถามนั้นถูกหรือผิด ระยะหลังไม่นิยมเล่น เพราะเขียนหนังสือให้คนอ่านไม่ได้

                         คำร้องเชิญ
                 “นางดังเอย กะปาลาโฮ้ง
          กระดังหม่ายหมาก มากาเปียกแดง
            ตะแคงแมงเห่า กระด้งฝัดข้าว
              ออนมาพึกๆ ออนมาผายๆ
               ขอดินทราย มากน้ำเต้า
      เชิญพระเจ้า มาเข้านางด้ง” (เชิญจนกว่าจะเข้า)

            “นางกวัก”
            เป็นการละเล่นเช่นเดียวกับนางด้ง เรียกชื่อตามวัสดุหลักในการเล่นคือกวัก ที่ใช้สำหรับกรอด้ายแทนหลอดด้ายที่ใช้มาแต่เดิม กวักเป็นกวักของแม่หม้ายประกอบกับไม้คานหาบน้ำ เสื้อแขนยาว สตางค์แดง(สตางค์รู) ข้าวสร พริก เกลือ หมาก ถ่านหุงข้าว ยาสูบน้ำหอม ดอกไม้ ธูป 6 ดอก นำมาประกอบคล้ายหุ่นไล่กาในการเล่นจะมีเชิญ 2 คน มีคำเชิญ ผีเข้ามาสิงอยู่คนกวักเพื่อทาย วิธีการตอบคำถาม ใช้วิธีเขียนบนดิน นิยมเล่นเพราะเขียนได้

                           คำร้องเชิญ
                    นางกวักเอย ไม้หยักแหย่
                ไม้แหย่ยอ ปักเถียงไห่ตีกลอง
     ปุกเถียงนาคคล้องช้าง สาวอวดอ้างเล่นบ่าวมื้อเวน
               เวนบ่เวนปานค่ำ ค่ำบ่ค่ำปานดึก
             ดึกบ่ดึกปานต่าว เล่นบ่าวบ้านกลาง
                 เล่นนางสาวเหล่ ใสออดลอด
        เป็นบอกข้าวเบี้ย สาวอมเย เลียน้ำเลียท่า
    สาวอยู่ป่า มาซักมาซวน ไม้คานหัวบักตักน้ำขึ้นแคร่
          แก่น้ำขึ้นเฮียนโตงเตง (ร้องจนกว่าจะเข้า)

            ตักน้ำสรงพระ
            ตักน้ำสรงพระ จะปฏิบัติกันในเทศกาลสงกรานต์ แต่เดิมก่องสรงน้ำพระ หนุ่มสาวจะต้องตักน้ำ ใส่โอ่งบนวัดให้เต็ม แล้วหาบสุดท้ายจะมาวางเพื่อร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ก่อนไปแห่ดอกไม้ในทุ่งนารอบบ้าน นอกจากจะสรงน้ำพระแล้ว ยังมีการนัดหมายให้หนุ่มสาวตักน้ำไปรดน้ำดำหัว ผู้ใหญ่ พ่อแม่ในหมู่บ้านเพื่อขอพร ให้เป็นสิริมงคลก่อนที่จะทำการสรงพระแห่ดอกไม้ในลำดับต่อไป

            ก่อเจดีย
            จะทำกันในเทศกาลสงกรานต์ ก่อนการปักธงหรือแห่ธง ประชาชนจะหาบทรายจากท่าน้ำขึ้นมากองเป็นเจดีย์ ทรายตกแต่งด้วยธงเล็กสามเหลี่ยมหลายหลากสีสีสวยงาม มีการอธิษฐานให้มีเงินทองเท่าเม็ดทรายหรือมีผิวเหลืองเหมือนถังทราย มีการพรมน้ำมนต์กองทรายทุกกองเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมก่อกองทราย

            ภาษาพูดในท้องถิ่น
            ภาษาที่ชาวโคกหม้อใช้สื่อสารกันจากอดีตถึงปัจจุบันมี 2 ภาษาคือ
                1. ภาษาไทยกลาง ซึ่งมีการใช้กันทั่ว
                2. ภาษาลาว(ครั่ง) เป็นภาษาที่ผู้อพยพมาจากหลวงพระบางมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโคกหม้อ
               จะมีการใช้พูดสื่อสารกันในพื้นบ้านโคกหม้อ

            กลุ่มองค์กรของบ้านโคกหม้อ
                    -กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
                    -กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าพื้นเมือง
                    -กลุ่มผู้ใช้น้ำ
                    -กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
                    -กลุ่มชาวนาเกษตรกรบ้านโคกหม้อ

 

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน