Ran khaa ya
 
 
บทความ
------ ๑ --

ผมเชื่อว่าแทบทุกคนเดินทาง ล้วนแต่มีสมุดบันทึกคนแรมทางทั้งนั้น ผมก็เช่นกัน บางครั้งผมก็นำมันติดตัวไปด้วย บางทีก็กลับมาแล้วค่อยบันทึกอีกที แล้วแต่ความประทับใจในการเดินทางครั้งนั้นๆ บ่อยครั้งทีเดียวที่ผมอดอมยิ้มให้กับเรื่องราวที่ผ่านมาเมื่อเปิดอ่านบันทึกไม่ได้ บางคราวก็ได้แบ่งปันเรื่องราวให้คนรอบข้างได้ร่วมสนุกสนานกับประสบการณ์ที่ผ่านมาบ้าง มีอยู่เรื่องหนึ่ง คนใกล้ชิดผมอ่านแล้วก็ทำหน้างงงง ทำนองว่า "มันเขียนอะไรของมัน(วะ)" ผมเอาบันทึกกลับมาดู

๏ 3-5 ก.ย. 36

ตลาดเช้าหล่มสัก -> น้ำหนาว -> ครูกบ กับนักเรียนโนนคูน -> ห้วยกุ่ม -> ตะลุยทุ่งลุยลาย -> เงาลางๆที่ทุ่งกะมัง -> โบกรถ ชัยภูมิ-นครสวรรค์ -> ปากน้ำโพ แม่น้ำสองสี และ ตีสามกว่าๆแล้วนะ

ในบันทึกเขียนแค่นี้ ผมยิ้มแล้วตอบว่า ถ้าเอ็งเป็นข้า เอ็งจะรู้ว่าในบางครั้ง แค่คำบางคำ แทนความทรงจำได้ดีขนาดไหน

-- ๒ --

ตลาดเช้าหล่มสัก

ใช่แล้ว เช้าวันที่ 3 ก.ย. 36 ถ้าคุณเปิดปฏิทินจะพบว่าเป็นวันศุกร์ วันทำงาน แต่ผมดันไปอยู่บนรถประจำทางสาย หล่มสัก - ชัยภูมิ สายหมอกยามเช้าทำให้จิตใจเบิกบาน รวมกับวิญญาณกบฏของผม ทำให้รู้สึกสะใจยังไงไม่รู้ที่รู้ว่าคนอื่นกำลังดิ้นรนทนรถติดไปทำงานในกรุงฯ แต่ผมกลับมานั่งชื่นชมสายหมอก ให้ลมเย็นๆปะทะใบหน้าเปื้อนยิ้ม

ก่อนฟ้าสาง พวกเราเดินหาอะไรร้อนๆกินในตลาด ตลาดเช้าหล่มสักยามนั้นเป็นตลาดที่น่ารัก ชาวบ้านมาวางแผงขายผักสด ผลไม้ เสื้อผ้า บ้างตักบาตร ที่นี่กับข้าวตักบาตรเหมือนภาคกลาง แต่ว่าข้าวที่ตักเป็นข้าวเหนียว ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่.. ใครช่วยตอบที

-- ๓ --

น้ำหนาว

สายๆ เราก็ถึงอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ลงจากรถยังไม่ทันพ้นทางเข้าอุทยานฯ เจ้าบ้านตัวน้อยก็บินมาต้อนรับกันเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น ปรอทหัวโขน แซงแซวหางปลา หางบ่วง นกไต่ไม้ และอีกหลายชนิด ซึ่งตอนนั้นผมก็ยังเพิ่งเริ่มหัดดูนกเลยจำไม่ได้รู้แต่ว่า โหย! สวยไปหมด แล้วก็เยอะด้วย ดูกันเพลินๆก็มีคนเตือนว่าเรามีนัดนะเดี๋ยวจะช้า อย่าดูนานเลย เดี๋ยวข้างหน้าคงจะมีอีก พวกเราจึงเดินกันต่อ แต่แล้ว.. ว่างเปล่า ไม่เห็นมีวี่แววซักตัว เราจึงรู้ว่าที่เราเจอเมื่อตะกี้มันคือ "นกรับแขก" นั่งเอง

หลังจากทำความคุ้นเคยกับเด็กๆซักพัก เจ้าหน้าที่ก็นำพวกเรา ครู และนักเรียนไปเดินตามทางเดินศึกษาธรรมชาติ อากาศเย็นแต่เหนอะหนะ ทำให้รู้ทันทีว่า ป่าดิบชื้น เดินไปเด็กๆก็จะถาม พี่ครับ พี่คะ นี่ต้นอะไร นั่นต้นอะไร ก็ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง นานๆเข้าก็กลายเป็น "ต้นหมาถาม" กันไปหมด เด็กๆก็เชื่ออีก จนต้องเฉลยว่า พี่ๆล้อเล่น น้องๆถึงจะเข้าใจมุข เฮ้อ! เด็กๆเขาใสซื่อจริงๆ ไอ้เราไม่น่าไปกะล่อนสอนน้องอย่างนี้เล้ย…ย พี่คะ นี่อะไร แน่ะ! ยังกล้ามาถามอีก แต่คราวนี้รู้แฮะ แต่ไม่ตอบ "น้องลองโยนขึ้นไปดูสิ" พอทำตาม ลูกยางมีปีกก็หมุนติ้ว บินไกลออกไป เจ้าตัวเล็กถูกใจยิ้มแป้นและวิ่งไปเก็บ ไอ้เราได้ทีอวดภูมิรู้ "ลูกยางจ๊ะ" ตอบอย่างมั่นใจ.. มารู้ทีหลังว่าไม่ใช่แค่ลูกยางหรอก ที่มีปีก 2 ข้างบินได้ ยังมีอีกหลายต้นเชียว… แป่ว!!!

-- ๔ --

ครูกบ กับนักเรียนโนนคูน

พวกเราถูกเชิญให้มาช่วยสอนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้กับเด็กๆ ในนามของมูลนิธิโลกสีเขียว โดยมีพี่ปอเป็นเจ้าหน้าที่ หงำ ผม พี่เสือ พี่เหลือง เป็นอาสาสมัคร ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านค่ายมาพอควร เราเริ่มจากก่อนทานข้าวเย็น เราให้น้องๆท่องกลอน

ข้าวเอย ข้าวสุก
ต้องกินกัน ทุกบ้านทุกฐานถิ่น
กว่าจะมาเป็นข้าวให้เรากิน
ชาวนาสิ้นกำลังเกือบทั้งปี
ต้องทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว
กว่าจะได้ข้าวจากนา มาถึงนี่
คนกินข้าว ควรคิดดูให้ดี
ชาวนา มีคุณต่อเรา ไม่เบาเลย
ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง
อย่ากินทิ้งขวาง เป็นของมีค่า
ผู้คนอดอยาก มีมากนักหนา
สงสารบรรดา เด็กตามดำๆ

หลายคนคงซาบซึ้งกับกลอนบทนี้ไม่น้อย ช่างไพเราะกินใจยิ่ง แต่บ่อยครั้งที่เห็นค่ายเด็กกรุงเทพฯ หรือแม้แต่พี่เลี้ยงค่ายเองนี่แหละ ที่กินข้าวเหลือ แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กนักเรียนโนนคูน เด็กตัวกะเปี๊ยก ตักข้าวจานเบ้อเริ่ม แต่กินหมดไม่มีเหลือ จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ใครสอนใครกันแน่ ใครคือนักอนุรักษ์ตัวจริง ใครคือคนที่ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม คนเมืองที่ศึกษา หรือว่าชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กับมัน อย่างเด็กๆเหล่านี้ ?

คืนนั้นฝนตกใหญ่ อาศัยว่าเราได้บ้านพักกรมป่าไม้หลังใหญ่ กับผ้านวมอุ่น ทำให้หลับสบาย ก่อนหลับพวกเราคุยกันว่า พรุ่งนี้หงำจะต้องแยกไปช่วยงานที่เขาใหญ่ ส่วนวันอาทิตย์พี่ปอจะต้องเข้าไปห้วยขาแข้ง ที่เหลือให้กลับกรุงเทพฯเอง ใครบางคนบอกว่า นี่! เห็นประเทศไทยเป็นอะไร นึกอยากจะไปไหน ก็จิ้มๆเอา แล้วก็ไป เห็นเป็นเรื่องล้อเล่นไปได้ "ล้อเล่นกับประเทศไทยหรือไง" พวกเราหัวเราะกันร่วน ก่อนจะม่อนหลับไป

-- ๕ --

ห้วยกุ่ม

รุ่งเช้าตื่นมาด้วยเสียงปลุกของฝูงนกกระรางหัวหงอกข้างบ้านพัก เช้านี้เราพาเด็กๆเดินดูนกตามทางที่รถวิ่งเข้ามาที่ทำการนั่งแหละ แต่เป็นน้องๆที่ชี้ให้พี่ดูต่างหาก พี่ๆนั่นนกอะไรน่ะ สีแดงๆ เหลืองๆ ไหนๆ พี่หาอยู่พักใหญ่ อ๋อ! ตัวนี้เขาเรียก นกพญาไฟ นี้เห็นมั๊ย หน้าตาอย่างนี้ ว่าแล้วก็เอาเบิร์ดไกด์ออกมาโชว์ น้องๆเลยสนใจกันใหญ่ มารุมเปิดหนังสือกันสนุก ส่วนพี่ๆหน้าบานแฉ่ง เย้! กูได้เห็นพญาไฟแล้วโว๊ย ดีใจจริงๆ สวยชิบเป๋ง

พอสายๆ เราก็ออกเดินทางจากน้ำหนาว ไปศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ห้วยกุ่ม ระหว่างทางแวะเยี่ยมชมโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผา ถึงห้วยกุ่ม ศึกษาพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรัง โดยมีเจ้าหน้าที่น่ารักๆเป็นวิทยากรนำเดิน งานนี้พวกพี่ๆก็ได้ความรู้อีกเพียบ ได้รู้จักการจำแนกต้นเต็งกับต้นรัง ได้รู้จักไผ่เพ็ด ตะแบกน้ำ ตะแบกเลือด ที่มียางสีแดงเหมือนเลือด ต้นแลนท้อ ซึ่งถ้าเป็นภาคกลางน่าจะตั้งชื่อว่า เหี้ยถอดใจ น่าจะได้ (ขอยืนยันไม่ใช่คำหยาบนะครับ) ต้นเป็นยังไงลองไปดูเองละกัน "มื่อนี่..พอแค่นี้ก่อนเน่อ" เสียงซาวแทรกภาษาอีสาน ทำเอาเราขำกลิ้ง นึกว่าพี่เขาหิว แล้วอำลาห้วยกุ่มแบบขำๆ(จริงๆแล้ว มื่อนี่ หมายถึง วันนี้)

-- ๖ --

ตะลุยทุ่งลุยลาย

ระหว่างทางไปทุ่งกะมัง พวกเราขอตัวลงกลางทางที่ทุ่งลุยลาย แล้วจะตามไปสมทบกับครูกบในตอนเย็น ที่ลงกลางทางไม่ใช่อะไร หิวน่ะ แล้วก็ไม่อยากรบกวนครู เลยแวะหาก๋วยเตี๋ยวกิน ก็"มื่อนี่"กับ"มื้อนี้"มันคล้ายๆกันนิเลยพาลหิว เดินๆอยู่เห็นคนใส่ชุดคล้ายทหารถือปืนเอ็ม16เดินไปเดินมา ก็งง อะไรกันว่ะเนี่ยะ ไหงใครมาถือปืนเดินโท่งๆกลางเมืองอย่างงี้ พวกเราเริ่มคิดกัน.. ทุ่งลุยลาย ชื่อมันคุ้นๆน้า…..า แต่นึกไม่ออกว่าเคยได้ยินที่ไหน ในที่สุดเราก็ได้หม่ำก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยที่สุดในโลก พร้อมกับหวานเย็นสีแดงสด ตอนจ่ายตังค์ เห็นที่ร้านเขียนว่า "จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง" ตอนนั้นใสซื่อ ไม่รู้ความหมายอยู่นานปีทีเดียว (ว่าเขาไม่เชื่อใครหรอ?)

เราโบกรถอยู่นานเลย ไม่ติดซักคัน เลยเปลี่ยนมาใช้กล้องสองตาส่องดูก่อน ถ้าเห็นคนขับหน้าตานายทุนหน่อย ก็ไม่ต้องเสียเวลาโบกให้เมื่อย เดินไปเรื่อยๆในที่สุดก็โบกได้รถกระบะของน้องผู้หญิงคนนึง หน้าตาน่ารักแถมใจดีอีกด้วย บ้านน้องเขาอยู่ไม่ถึงภูเขียวแต่ก็อุตส่าห์ขับไปส่งพวกเราถึงที่ น่ารักจริงๆ และขอบคุณสำหรับความรู้สึกดีๆในการโบกรถครั้งแรกในชีวิต เพราะมันทำให้เราก็ติดใจการโบกรถตั้งแต่นั้นมาเลยแหละ

-- ๗ --

เงาลางๆที่ทุ่งกะมัง

พวกเราถึงที่พักกันเกือบมืด ระหว่างทางป่าสวยมากแต่ถนนลาดยางอย่างดีจนเราแปลกใจ ยิ่งไปกว่านั้น เข้ามาในป่าลึกขนาดนี้ ไม่น่าเชื่อเราจะเจอกับงานเลี้ยงขนาดใหญ่พร้อมเครื่องเสียงกระหึ่มป่า ไอ้ห่าเอ๊ย! ผมบ่น มันจะมาแต่งงานกันในป่าทำไมวะ เราสู่อุตส่าห์สอนเด็กว่าเข้าป่าให้งดเสียงดัง ต้องหัดเกรงใจเจ้าบ้าน(สัตว์ป่า) แล้วดูพวกผู้ใหญ่เหล่านี้สิ มีการศึกษาซะเปล่า? ใครหว่าพูดว่าการศึกษาทำให้คนเจริญขึ้น? ตีห้าพวกเราต้องออกเดินทางไปห้วยขาแข้งแล้ว เสียดายจัง ทุ่งกะมังอยู่ต่อหน้าแต่ไม่มีโอกาสได้เห็น เห็นแค่เงาลางๆของเก้งกวาง 2-3 ตัว

-- ๘ --

โบกรถ ชัยภูมิ-นครสวรรค์

แปดโมงกว่า พวกเราเพิ่งถึงตัวเมืองชัยภูมิเอง รถประจำทางวิ่งช้ามาก ถ้าจะนั่งรถประจำทางไปอุทัยฯอีกคงไม่ทันการแน่ ก็เลยไปโบกรถที่ทางออกนอกเมือง เราโบกรถรวดเดียวถึงนครสวรรค์เลย ไม่ใช่โชคหรอกนะที่เข้าข้าง แต่เป็นกล้องสองตาต่างหากพอส่องเห็นทะเบียนรถที่ไปทางนั้นเราก็โบกทันที พี่เขาใจดีมากให้เราติดรถมาแล้วยังคอยถามจะเอาน้ำเอาขนมมั๊ย..เกรงใจจัง ชัยภูมิ-นครสวรรค์ ไกลไม่ใช่เล่น ราวสองร้อยกว่ากิโลได้ ผ่านภูเขาหลายลูก วิวสวยมาก นั่งตากแดดไป 3 ชม.ก็ไหม้ ไหม้จริงๆผิวเกรียมเลยแสบเนื้อไปหมด ถึงนครสวรรค์เอาเที่ยงกว่าๆจะไปอุทัยฯก็ไม่ทันนัดแล้ว เลยเปลี่ยนใจ.. ล้อเล่นนะจ๊ะประเทศไทย ไม่ไปแล้ว

-- ๙ --

ปากน้ำโพ แม่น้ำสองสี และ ตีสามกว่าๆแล้วนะ

ตอนเย็น เพื่อนพี่ปอพาไปนมัสการองค์พระบนเขา ดูวิวเมืองนครสวรรค์ ก่อนจะไปหม่ำข้าวเย็นที่ตลาดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เห็นปากน้ำโพ ที่ท่องมาแต่เด็ก ได้เห็นสายน้ำสีแดงขุ่นกับสีเขียวเข้ม ไหลมาร่วมจนรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตทั่วที่ลุ่มภาคกลาง สวยมาก

พี่ปอบอกว่าจะกลับตอนนี้ถึงกรุงเทพฯจะดึกไปหารถกลับบ้านยาก ค่อยไปรถไฟตอนตีสามถึงกรุงเทพฯเช้าพอดีไปทำงาน ตอนนี้นอนก่อน คืนนั้นผมตื่นมาก่อนตีสามนิดหน่อย มองดูคนอื่นๆยังหลับไหลกันอยู่ก็งงๆ ไหนบอกว่ารถไฟตีสามไม่ใช่หรอ หรือว่าเราจำผิด พอตีสามกว่าเห็นพี่ปอขยับตัว

"พี่ปอ พี่ปอ" ผมกระซิบ
"อื้อ..อาราย"
"ตีสามกว่าๆแล้วนะ"
"อื้อ..แล้วไง"
"รถไฟไง?"
"ไปแล้วล่ะ นอนต่อเถอะ"
อ้าวแล้วกัน ผมอึ้งไปพักนึก ก่อนจะลืมตาอีกทีเมื่อแดดเช้าแยงตา ผลน่ะหรอ.. แหะๆ เข้าที่ทำงานเอาบ่ายสองโน่น รู้สึกผิดอยู่เหมือนกันแหละ แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องพูดคำว่า"จะไม่ทำอย่างนี้อีกแล้ว"อีกหลายครั้งเชียว อิ..อิ

-- ๑๐ --

๏ 3-5 ก.ย. 36

ตลาดเช้าหล่มสัก เ น้ำหนาว เ ครูกบ กับนักเรียนโนนคูน เ ห้วยกุ่ม เ ตะลุยทุ่งลุยลาย เ เงาลางๆที่ทุ่งกะมัง เ โบกรถ ชัยภูมิ-นครสวรรค์ เ ปากน้ำโพ แม่น้ำสองสี และ ตีสามกว่าๆแล้วนะ

เชื่อหรือยังว่า คำบางคำนั้นแทนความทรงจำได้ดีขนาดไหน

 
 
 
 
 
 
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2548
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน