|
"แม่น้ำป่าสัก" เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งของชาวจังหวัดลพบุรีและสระบุรี ประชาชนจะได้ประโยชน์จากแม่น้ำป่าสักอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมหรือการประมง แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม - เดือนตุลาคมของทุกปี จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เช่น ตำบลมะนาวหวาน ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล และหมู่บ้านใกล้เคียงอีก รวมไปถึงจังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับในช่วงเดือนมกราคม - เดือนพฤษภาคม พื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักก็จะประสบภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค บริโภค
ในปี 2508 กรมชลประทานได้เริ่มศึกษาโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ แม่น้ำป่าสัก แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงจึงได้ระงับโครงการฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน แต่หลายครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรจังหวัดลพบุรีด้วยความห่วงใย และได้เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ในเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีที่กำลังประสบปัญหาอยู่
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และด้วยความห่วงใยในประสบนิกร ของประชาชน ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ล้ำลึกและเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ทรงแก้ปัญหาให้ "ความโหดร้าย" ของแม่น้ำป่าสักกลับกลายเป็น "ความสงบเสงี่ยม" ที่น่านิยม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น วันที่ 1 กรกฎาคม 2535 กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษา ความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนเก็บน้ำป่าสัก รวมทั้งแผนปฏิบัติการแก้ไข พัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแกนกลางในการดำเนินงานสนับสนุนด้านงบประมาณ ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ว่า
...ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และหมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่าอีกหน่อยต้องปันส่วนน้ำหรือต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่งปัญหานี้ต้องวางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติในวันนี้ เราก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี และโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนกว่าแล้วที่นราธิวาส ได้วางโครงการและแม้เป็นโครงการที่ไม่ได้แก้ปีนี้ หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดีประมาณ 5 หรือ 6 ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯจะหมดไปโดยสิ้นเชิง อาจจะนึกว่า 5-6 ปี นั้นนาน ความจริงไม่นานและระหว่างนี้เราก็พยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อย แต่ถ้ามีความหวังว่า 5-6 ปีปัญหานี้คงหมดไปก็คงมีกำลังใจที่จะฟันฟ่าชีวิตต่อไป
ที่ว่า 5-6 ปีนี้ ความจริงได้เริ่มโครงการนี้มากว่า 5-6 ปี โครงการที่คิดจะทำนี้บอกได้ ไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเดี๋ยวจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญจากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการแต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้อีก 5-6 ปี ข้างหน้าเราก็สบาย แต่ถ้าไม่ทำในอีก 5-6 ปี ข้างหน้าราคาค่าสร้าง ค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป 2 เท่า 3 เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราก็จะอพยพไปที่ไหนไม่ได้ โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือแม่น้ำป่าสัก อีกแห่งคือแม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้ สำหรับการใช้น้ำนั้น ต้องทราบว่าแต่ละคนใช้อยู่อย่างสบายพอสมควร โดยเฉลี่ย คนหนึ่งใช้วันละ 200 ลิตรถ้าคำนวณดูว่า วันละ 200 ลิตรนี้ 5 คน ก็ใช้ 1,000 ลิตร คือ หนึ่งลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าปีหนึ่งคูณ 365 ก็หมายความว่า 5 คนใช้ในหนึ่งปี 365 ลูกบาศก์เมตรในกรุงเทพฯและในบริเวณใกล้เคียงนี้เรานับเอาคร่าว ๆ ว่ามี 10 ล้านคน 10 ล้านคนก็คูณเข้าไป ก็เป็น 730 ล้านลูกบาศก์เมตรฉะนั้นถ้าเราเก็บกัก 730 ล้านลูกบาศก์เมตร ในเขื่อน เราก็จะสามารถที่จะบริการคนในละแวกนี้ คนในภาคกลางใกล้กรุงเทพฯนี้ได้ตลอดไป แล้วก็ไม่มีความขาดแคลนเขื่อนป่าสักที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ 750 ล้านกว่า ๆตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้ แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียวก็พอ พอสำหรับการบริโภคแน่นอน ไม่แห้ง ถ้าเติมอีกโครงการที่นครนายก จะได้อีก 240 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เกินพอ..
|