เพลงเต้นกำรำเคียว
 |
เต้นกำรำเคียว เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าแก่ของชาวชนบทในภาคกลาง แถบจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวชนบทส่วนมากมีอาชีพการทำนาเป็นหลัก และด้วยนิสัยรักสนุกกับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ลักษณะการรำ จะเน้นความสนุกเป็นใหญ่ มีทั้งเต้นและรำควบคู่กันไป ในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวแล้ว จึงเรียกการแสดงนี้ว่า "เต้นกำรำเคียว" จะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว
วิธีเล่น จะมีผู้เล่นประมาณ ๕ คู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชายเรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่า แม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลายๆคน ช่วยกันร้องจนจบเพลง ผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็จะเป็นลูกคู่ ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะ
การแต่งกาย ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วยและเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุง สวมงอบไม่สวมรองเท้า ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนและเสื้อกระบอกสีดำทั้งชุด ทัดดอกไม้ที่หูขวา และไม่สวมรองเท้าเช่นกัน ผู้แสดงทุกคนถือเคียวในมือขวา และถือรวงข้าวในมือซ้าย
รำกลองยาว
 |
ประวัติความเป็นมา คณะกลองยาวที่มีชื่อเสียงมากของชาวอำเภอพยุหะคีรี ได้แก่ คณะ บ.รุ่งเรืองศิลป์ ของนายบุญ เอี่ยมเวช ซึ่งได้ดัดแปลงท่าร่ายรำมาจากท่าร่ายรำของลิเก พร้อมได้ดัดแปลงประดิษฐ์ชุดแต่งกายขึ้น โดยเลียนแบบจากเครื่องแต่งกายของลิเกเช่นกัน และใช้ชื่อว่า “กลองยาวประยุกต์” และได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2500
ผู้เล่น ในตอนแรกผู้ร่ายรำใช้ทั้งชายและหญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นใช้ผู้หญิงเป็นผู้ร่ายรำเท่านั้น ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ตีกลองยาว และเครื่องดนตรีประกอบ ในตอนแรกมีผู้เล่นทั้งหมด 16 คน โดยมีผู้ตีกลองยืน 3 คน และผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง อีก 5 คน สำหรับผู้รำมี 4 คู่ 8 คน มีผู้รำคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คล้องนกหวีดไว้ที่คอสำหรับเป่า เป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ในตอนหลังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองอเมริกัน และปี่ชวาขึ้น และเพิ่มความครึกครื้น ก็เพิ่มผู้ร่ายรำเข้าไปอีก
การแต่งกาย แต่เดิมไม่มีแบบแผน แต่ต่อมาได้คิดประดิษฐ์ชุดเครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ โดยแปลงจากชุดของลิเก คือ นุ่งกางเกงคลุมเข่า และนุ่งผ้าโจงกระเบนทับกางเกง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าคาดศีรษะ ทัดดอกไม้ไว้ข้างหู สวมถุงเท้าสีขาวยาวถึงครึ่งน่อง มีผ้าคาดเอว
อุปกรณ์ในการเล่น กลองยาวที่ใช้ตีเป็นกลองยืน 3 ใบ กลองใหญ่ (กลองอเมริกัน) ฉาบเล็ก 1 คู่ ฉาบใหญ่ 1 คู่ ฉิ่ง 1 คู่ ปี่ชวา 1 เลา ฆ้อง 1 ใบ กรับ 1 คู่และกลองยาว ที่ผู้รำใช้ประกอบการร่ายรำอีกคนละ 1 ใบสถานที่เล่น ลานกว้างๆ
วิธีเล่น ก่อนเล่นมีการทำพิธีไหว้ครู มีดอกไม้ธูปเทียน เหล้าขาว บุหรี่และเงินค่ายกครู 12 บาท การไหว้ครูใช้การขับเสภา เมื่อไหว้ครูแล้วจะโห่ขึ้น 3 ลา แล้วเริ่มแสดง โดยนักดนตรีประกอบเริ่มบรรเลง ผู้ร่ายรำก็จะเดินและร่ายรำไปตามจังหวะกลอง มีท่าร่ายรำทั้งหมด 33 ท่า ท่าที่หวาดเสียวและตื่นเต้นมากที่สุดก็เห็นจะเป็นท่าที่ 30-31 คือท่าที่มีการต่อกลองขึ้นไป 3 ใบ ให้ผู้แสดงคนหนึ่งขึ้นไปยืนบนกลองใบที่ 3 แล้วควงกลอง และคาบกลอง ซึ่งผู้แสดงต้องใช้ความสามารถพิเศษ
|