Ran khaa ya
     
 
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 

1. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : แนวคิดใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
     1.1 เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ
โดยทั่วไป ผู้บริหารเศรษฐกิจมีเป้าหมายที่สำคัญสามประการคือ

       ก) ด้านประสิทธิภาพ คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมักจะพิจารณาจากการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ( Gross Domestio Product) ซึ่งแสดงว่าในระยะเวลา 1 ปี ประเทศผลิตสินค้าและบริการรวมแล้วเป็นมูลค่าเท่าใด ดังนั้น การที่ประเทศมี GDP ขยายตัว จึงหมายถึงว่าสังคมมีการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรมากขึ้น ประชาชนโดยรวมมีความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวได้ดีแสดงว่าระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรทรัพยากรที่ดี

       ข) ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
คือ การที่ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การไม่มี shock ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประชาชนโดยทั่วไปย่อมไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรับตัวได้ยาก ในด้านเสถียรภาพนี้มักจะมองได้หลายมิติคือ การมีเสถียรภาพในระดับราคาของสินค้า หมายถึง การที่ระดับราคาของสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ประชาชนสามารถคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการได้ การมีเสถียรภาพของการมีงานทำ หมายถึง การที่ตำแหน่งงานมีความเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน การมีเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หมายถึง การที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพของราคาในประเทศ และทำให้วางแผนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีความยุ่งยากมากขึ้น

       ค) ด้านความเท่าเทียมกัน โดยทั่วไปหมายถึง ความเท่าเทียมกันทางรายได้ เมื่อเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ปรากฏว่า รายได้ของคนในประเทศมีความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ามีคนเพียงกลุ่มน้อยได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้อีก หากเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ปรากฏว่า มีคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ

     ในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ประเทศไทยมีการขยายตัวที่ดี ทั้งด้านการส่งออก การผลิต รวมทั้งมีการมีการปรับโครงสร้างการผลิต โดยมีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมก็เป็นสินค้าที่มีทักษะการผลิตสูงขึ้น (ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี และวิศาล บุปผาเวส 2540 หน้า 4-6) อัตราการขยายของผลผลิตมวลรวมของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2502- พ.ศ. 2516 เฉลี่ยร้อยละ 8.1 ต่อปี , ปี พ.ศ. 2517- พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อัตราการขยายของผลผลิตมวลรวมของประเทศยังสูงถึงร้อยละ 6.3 ต่อปี และปี พ.ศ. 2529- พ.ศ. 2539 อัตราการขยายของผลผลิตมวลรวมของประเทศเฉลี่ยต่อปีของไทยคือ ร้อยละ 9.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ก่อนเหตุการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาโดยตลอด แม้จะลดลงบ้างในช่วงปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกก็ตาม
     การขาดสมดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องแสดงถึงความไม่สมดุลระหว่างการออกภายในประเทศและการลงทุน นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีการพึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศสูงมากและเป็นเงินกู้ระยะสั้น แต่เงินที่กู้มานี้ นำมาลงทุนเพื่อหวังผลในระยะยาว ดังนั้น เมื่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีอัตราลดลง

      ความมั่นใจถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศจึงมีลดลงทำให้มีความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงินบาท ที่มีค่าคงที่มาเป็นเวลานาน นำไปสู่การโจมตีค่าเงินบาท และการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นระบบลอยตัว ค่าของเงินบาทลดลงอย่างมาก ภาระหนี้สินต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก จนเกิดวิกฤติในสถาบันการเงิน มีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

     1.2 โครงสร้างและเนื้อหาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้ผู้บริหารประเทศและประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุล มีการพัฒนาเป็นลำดับขั้น ไม่เน้นเพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ที่ว่า

" ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอ ที่จะพึ่งตนเองย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันการผิดพลาดล้มเหลง" และพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517 "... ให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวด......"

     วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แสดงให้เห็นปัญหาในการแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และการบริหารเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมายังไม่มีความสมดุล ไม่สอดคล้องกับพระราชดำรัส จึงได้มีการประมวลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศและได้สรุปเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขอพระบรมราชานุญาตใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่เก้า

     ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

2. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
     2.1 นโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับปรัชญา

      จาก คุณลักษณะ ของปรัชญานี้ชี้ให้เห็นว่า การบริหารเศรษฐกิจจะต้องเป็นทางสายกลาง รู้เท่าทันเพื่อการใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาวิวัฒน์ ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจจะไม่ใช่การปิดประเทศ ต้องส่งเสริมการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ณัฏฐพงศ์ ทองภักดีและคณะ( 2542) ชี้ว่าการใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ตามแนวนี้      จะสอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องการผลิตและการค้าทำตามความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของประเทศเป็นหลักการสำคัญ นั่นคือการสร้างความได้เปรียบอย่างแท้จริงของประเทศ นโยบายเศรษฐกิจจะต้องสนับสนุนการแข่งขันทางการผลิตและการค้าเพื่อให้สังคมมีประสิทธิภาพ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ ไม่ปกป้องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่มีความได้เปรียบในการผลิตโดยตั้งภาษีนำเข้าสูง ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ เพราะสินค้านำเข้าจะมีราคาแพง ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้น การส่งออกทำได้ยากขึ้นในขณะเดียวกันต้องมีนโยบายสำหรับผู้เดือดร้อนจากการกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ปรับตัวได้
     ส่วน เนื้อหา ของปรัชญาที่กล่าวถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และมีระบบภูมิคุ้มกันแสดงว่า นโยบายเศรษฐกิจต้องมีความสมดุล สามารถให้เหตุให้ผลและชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจได้ มีความโปร่งใส มีการคำนึงถึงความเสี่ยง และต้องมีระบบในการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
ความพอประมาณ คือ การอยู่ได้โดยตนเอง ยืนโดยขาของตนเอง มีการค้า การติดต่อกับสังคมอื่น แต่ตนเองอยู่ได้ ไม่พึ่งพิงแต่ภายนอก ในด้านของนโยบายสามารถมองทั้งระดับปัจเจกชน ชุมชนและสังคม
     ในแง่ปัจเจกชน นโยบายต้องช่วยให้ปัจเจกชนยืนบนขาของตนเองได้ นั่นคือ มิมาตรการให้โอกาสทางเศรษฐกิจตามศักยภาพของแต่ละคน มาตรการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา การบริการของรัฐ สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึง รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในขณะเดียวกันต้องมีมาตรการไม่ให้มีการสร้างหนี้สินมากเกินไปจนเกิดความไม่พอเพียง
ในด้านของชุมชน นโยบายเศรษฐกิจต้องสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อช่วยให้คนในชุมชนยืนได้ด้วยตนเอง ชุมชนแต่ละชุมชนย่อมมีความแตกต่างกัน ตามลักษณะของประชากร ทรัพยากร วัฒนธรรม ดังนั้น นโยบายต้องให้ชุมชนพัฒนาความแตกต่าง
     นโยบายกระจายอำนาจจากส่วนกลางจะมีส่วนสำคัญในการสร้างสาธารณูปโภคและบริการที่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้ดีกว่าการดำเนินงานจากส่วนกลาง นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของชุมชนด้วยในส่วนของระดับประเทศ ความพอประมาณ คือ การที่จะมีนโยบายให้ความสำคัญแก่วัตถุประสงค์ทั้งสามด้านคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพและความเท่าเทียมกัน โดยไม่มุ่งให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากไปจนไม่พอประมาณ เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชน โดยมีนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นโยบายการเงิน การคลังที่กำกับ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยควรเน้นเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งในอดีตมาตรการการเงินของไทยประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพ โดยในปัจจุบันนโยบายการเงินแบบ Inflation targeting ก็เน้นเสถียรภาพด้านราคาเช่นกัน ( สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 2542) นโยบายระดับประเทศต้องมีความสมดุลด้านการออมและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

     2.2 การบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

     หากมีการวางนโยบายและดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ได้อภิปรายข้างต้น สังคมจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆได้อย่างสมดุล

     ด้านการขยายตัวเกิดขึ้นได้ โดยใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ การผลิตมีประสิทธิภาพจากระบบธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลที่ดี การขยายตัวมีความพอประมาณ นั่นคือจะมีความยั่วยืนไม่ใช่เฉพาะระยะสั้น และมีความสมดุล จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา และกอบศักดิ์ ภูตระกูล( 2546) ชี้ให้เห็นว่า แนวทางพัฒนาตามพระราชดำริเป็น "การพัฒนาแบบ ล่างพร้อมบน ชนบทพร้อมเมือง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ " เพราะเป็นการพัฒนาในทุกส่วนของสังคม"

     ด้านเสถียรภาพ ค่อนข้างชัดเจนว่าความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน คือ การลดความเสี่ยง ความผันผวน ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เพระหากว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์ ก็จะมีเครื่องมือที่จะหลีกเลี่ยง รวมทั้งมีกลไกในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม ตามหลักความสมดุล หากมีเสถียรภาพในปัจจุบันแต่สร้างความไม่มีเสถียรภาพในระยะยาว ก็จะมีปัญหาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่คงที่ แต่ให้มีการไหลเข้าของเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี ทำให้มีแรงกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงได้ และเกิด shock ขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจ

     แนวทางบริหารเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะเป็นแนวคิดที่คำนึงความสมดุลของคนในสังคม ให้ทุกส่วนในสังคมมีความพอเพียงยืนได้ด้วยตนเองผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกระจายทั่วถึงกว่าแนวคิดที่จะให้มีความเจริญจากส่วนบนและหลั่งไหลลงสู่ส่วนล่าง การสร้างภูมิคุ้มกันคือ การให้มีกลไกการบรรเทาผู้เดือดร้อน คือ การมี social safety net มีระบบสังคมที่เอื้ออาทร มีการดูแลคนในสังคมทุกระดับ เงื่อนไขที่ให้คนมีความรอบรู้ซื้อสัตย์คือการให้โอกาสทางการศึกษา การทำให้สังคมมีคุณธรรม เป็นธรรมแก่คนทั่วไป โดยทั่วถึง

3. รัฐกับเศรษฐกิจพอเพียง

     Adam Smith ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ เน้นที่ให้ระบบตลาดทำงานอย่างเสรี โดยจะมีมือที่มองไม่เห็นนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยบทบาทรัฐที่สำคัญแบ่งเป็นสามด้าน ( 1) การปกป้องการรุกรานจากต่างประเทศ ( 2) การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดูแลเกี่ยวข้องกับการปกป้อง คุ้มครอง ประชาชนภายใต้การปกครองของตนเอง ( 3) การสร้างสาธารณูปโภค ที่เอกชนไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ในทัศนะนี้รัฐจะไม่มีบทบาทมากนักที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ

     เศรษฐศาสตร์ในยุคใหม่ ให้ความสำคัญของบทบาทรัฐในการบริหารเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภายใต้ระบบกลไกตลาด รัฐจะมีบทบาทในการสร้างสถาบันต่างๆ ที่ทำให้ระบบตลาดทำงานได้ดี เช่นการกำหนดกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ การออกกฏเกณฑ์กำกับดูแลตลาดและการแลกเปลี่ยน และเข้ามาแทรกแซงเมื่อตลาดมีความล้มเหลวทำงานไม่ได้สมบูรณ์ ) เช่น การผูกขาดโดยธรรมชาติ ( Natyral monopoly) การมีผลกระทบภายนอก (Externality) นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าระบบตลาดในความเป็นจริงจะไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างเข็มแข็งเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

     เมื่อพิจารณาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ จะมีข้อสรุปได้ว่า การบริหารเศรษฐกิจไม่สามารถจะใช้ระบบกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวต้องอาศัยภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ รัฐจะต้องทำให้ตลาดทำงานได้ และแก้ไขความล้มเหลวของระบบตลาด นองจากนี้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชี้ให้เห็นด้วยว่า รัฐต้องมีบทบาททางสังคม ที่จะสร้างให้คนในสังคมมีความพอเพียง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน นั้นคือ เป็น บทบาทที่ลึก ไปกว่าการทำให้ระบบตลาดทำงานตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งหากจะมองในแต่ละด้านที่สำคัญคือ

     รัฐต้องสร้างความสมดุลในการจัดการเศรษฐกิจ คำนึงถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้งสามด้านดังกล่าวข้างต้น ข) ขจัดความไม่สมดุลในด้านต่างๆในระบบเศรษฐกิจ ค) มีระบบที่จะสร้างความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลของคนในสังคม

     รัฐต้องมีระบบการจัดการเศรษฐกิจมหภาค ต้องเน้นเสถียรภาพและการจัดการความเสี่ยง โดยไม่มองในแง่ดีเกินไป เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี มีความยืดหยุ่นรองรับต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

     ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชี้ให้เห็นว่า การดำเนินตามปรัชญานี้ เงื่อนไขสำคัญคือ รัฐต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี นั่นคือ การสร้างให้การบริหารจัดการทั้งภาครัฐมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดรับชอบ ความโปร่งใส โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม

     รัฐเองต้องมีความพอเพียง โครงการและมาตรการรัฐ ต้องไม่สร้างความไม่พอประมาณ ความไม่มีเหตุมีผล การลงทุนและการก่อหนี้ของภาครัฐต้องไม่เกินตัวและคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว หากให้การตัดสินใจของรัฐมีเหตุมีผล รัฐจะต้องมีข้อมูลที่ดี มีการศึกษาเพื่อวางแผนวางนโยบายที่ดี คนในรัฐบาลต้องมีการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งโยงถึงการมีระบบการเมืองที่ดีด้วย

     ความพอเพียงดังกล่าวนี้ รวมถึงการที่รัฐต้องมีความตระหนักถึงข้อจำกัดหรือความล้มเหลวของรัฐในการแทรกแซงตลาดเช่นกัน

   
     
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2549
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์


   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน