ทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านทรัพยากรป่าไม้
ทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญของตำบลหนองกรด อยู่ในพื้นที่เขตวนอุทยาน เขาหลวง อยู่ในหมู่ที่ 9, หมู่ที่ 14, หมู่ที่ 15 และ หมู่ที่ 16 พื้นที่วนอุทยานเขาหลวง เป็นภูเขาเขตติดต่อโดยทิศใต้ติดต่อกับ ตำบลบางประมุง อำเภอโกรกพระ และทางทิศตะวันตกติดต่อกับตำบล วังม้า อำเภอลาดยาวเป็นป่าโปร่งผสมผลัดใบ ไม้ขนาดเล็ก-กลาง มีไผ่ขึ้นหนาแน่น ผลัดใบฤดูแล้ง บริเวณใกล้ยอดเขาพบเป็นป่าเบญจพรรณชื้น และเชิงเขาเป็นป่าเบญจพรรณแล้ง พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ มะกอก เสี้ยว งิ้วป่า ตะแบก แดง ประดู่ มะค่าแต้ ชิงชั้น ผักหวาน โมกมัน ไผ่รวก ไผ่ป่า ไผ่นวล ไผ่ซาง ฯลฯ เป็นต้น พบบริเวณเชิงเขาที่ไม่สูงมากนัก ไม้มีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ พื้นป่ามีหญ้าปกคลุมทั่วไป ถูกไฟไหม้เกือบทุกปี พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ เต็ง รัง ประดู่ พลวง เหียง มะค่าแต้ ไผ่รวก ไผ่ป่า ปรงป่า ฯลฯ พบบริเวณยอดเขา ตามหุบเขา-ลำห้วย พื้นป่ารกทึบประกอบด้วยไม้พุ่มเถาวัลย์ หวาย กล้วยไม้ เฟิน กล้วยป่า มีพรรณไม้หลากหลายขึ้นอยู่ ได้แก่ ตะเคียนทอง ยางขาว มะไฟป่า ตีนเป็ด สมพงเสลา ยมหิน ยมหอม ไทร กร่าง สำโรง อุโลก ไผ่ซาง ไผ่นวล ไผ่ป่า ฯลฯ วนอุทยานเขาหลวง เป็นภูเขาสูงชัน ตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนพื้นที่ราบทางทิศตะวันตกของจังหวัดนครสวรรค์ มีรูปสัณฐานตั้งอยู่แนวเหนือ-ใต้ มียอดเขาหลวง เป็นยอดสูงสุดสูง 772 เมตร จากระดับน้ำทะเลและยอดเขาเขียวเป็นยอดสูงรองลงมา สูง 762 เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพโดยทั่วไป เป็นภูเขาหินปูน สูงชันสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่ มีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ มีสภาพป่าบนยอดเขาที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของคลองวังม้า และคลองบางประมุง ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้นน้ำลำธารของห้วยเล็กห้วยน้อย ไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง ในเขตจังหวัดอุทัยธานี
ศักยภาพของตำบลหนองกรด
ตำบลหนองกรดเป็นตำบลขนาดใหญ่ เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สภาพสังคมเป็นสังคมกึ่งชุมชนเมืองกึ่งชนบท มีเส้นทางการคมนาคมขนส่งสายหลังพาดผ่าน คือ ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นถนนหลักที่ใช้ในการเดินทางผ่านเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้ชุมชนบริเวณที่อยู่สองฝากฝั่งถนนสายหลัก มีความเจริญสูงกว่าชุมชนที่อยู่ในเขตอื่น ๆ ในตำบลหนองกรดนี้ เป็นตำบลที่มีศักยภาพที่ดีมาก ซึ่งเป็นตำบลที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่คือ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา มีวัดศรีอุทุมพรซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและมีชื่อเสียง มีสถานที่ท่องเที่ยวคือเขาถ้ำบ่อยา ถ้ำธารทิพย์ และวนอุทยานเขาหลวง ซึ่งยังไม่มีการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดได้ เนื่องจาก ยังไม่มีความแพร่หลายในเรื่องการประชาสัมพันธ์ และความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่รวมทั้งผู้นำชุมชนต่างๆ ยังมิได้มีการมองเห็นศักยภาพที่มีอยู่ ด้วยขนาดพื้นที่ของตำบลที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้ง ที่ตั้งที่ดี ตำบลหนองกรดจึงสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก ในส่วนของเขาถ้ำบ่อยา และวัดศรีอุทุมพร ซึ่งการเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวนี้ ทำให้เกิดโอกาสในการตั้งศูนย์แสดงสินค้า OTOP ประจำตำบล เพื่อเป็นการสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับตำบลหนองกรด ทั้งในด้านการเกษตรกรรมเนื่องจากพื้นที่ในชุมชนกึ่งชนบท ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ดี มีความพร้อมในด้านดินน้ำและทรัพยากรต่างๆ ถ้าเกิดความร่วมมือกันในด้านการเกษตร ซึ่งมีการอบรม และพัฒนาศักยภาพในด้านการเกษตร และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการเข้าถึงตลาดโดยไม่ผ่านคนกลางทางการตลาด เช่นการรวมกลุ่มในด้านสหกรณ์ขนาดใหญ่ทั้งตำบล การจัดตั้งโรงสีชุมชน ก็จะทำให้เกิดศักยภาพที่ดี สร้างผลตอบแทนแก่เกษตรกร
|