เอกลักษณ์ท้องถิ่น
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
แหล่งน้ำที่สำคัญ
ตำบลหนองเต่าไม่มีแม่น้ำไหลผ่านแต่มีคลองชลประทานและคลองธรรมชาติจำนวนมากที่ไหลผ่านกลางตำบลเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวตำบลหนองเต่าที่มีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งคลองชลประทานที่ไหลผ่านนี้ได้ขุดแยกออกจากแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลหนองเต่าระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

ทรัพยากรณ์ธรรมชาติที่สำคัญ
คลองชลประทาน หนองน้ำขนาดใหญ่ และพืชพรรณที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวตำบลหนองเต่าได้อาศัยในการประกอบอาชีพ ซึ่งสารมารถทำให้ชาวบ้านหนองเต่ามีความเป็นอยู่ที่ไม่ถือว่าแร้นแค้น หลายครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสุขสบาย แต่อีกสาเหตุอาจเนื่องมาจากชาวบ้านหนองเต่า มีการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน และอีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจพอเพียง
ต้นไม้ที่สำคัญ
บริเวณหมู่ที่ 3 หรือหมู่บ้านยางใหญ่มีต้นไม้สำคัญคือต้นยางใหญ่ ซึ่งมีอายุนับร้อยปี ซึ่งปัจจุบันต้นยางใหญ่ได้เฉาตายไปตามอายุขัยแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึก

สัตว์ที่สำคัญ
เนื่องจากหมู่บ้านหนองเต่า เป็นบริเวณที่มีหนองน้ำ และมีน้ำไหลจากคลองชลประทาน ทำให้มีน้ำท่วมถึง ในสมัยที่ผ่านมาสัก 10 ปี หมู่บ้านหนองเต่าจะมีน้ำท่วมถึงตลอดปี ทำให้มีปลาชุกชุมมาก ชาวบ้านประกอบอาชีพหาปลา แต่ปัจจุบันประสบภาวะฝนแล้ง แต่ก็ยังพอหาน้ำได้ในบริเวณหมู่ที่ 8 หรือบ้านห้วยรั้วโดยจะเห็นได้จากชาวบ้านหนองเต่ายังทำปลาร้าขายเป็นจำนวนมาก
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
หัตถกรรมงานฝีมือ
- งานปั้น งานปั้นของตำบลหนองเต่าที่พอหาดูได้ จะปรากฏอยู่ในสถานที่ 2 แห่ง ได้แก่ ศิลปะปูนปั้นบริเวณโบสถ์วัดหนองแพงพวย ซึ่งสวยงามมาก แต่ไม่ปรากฏว่าปั้นขึ้นตั้งแต่สมัยใด อีกแห่งที่ปรากฏคือศิลปะปูนปั้นรูปเต่าที่วัดหนองเต่าเหนือ ซึ่งเป็นศิลปะที่สวยงามมาก
ประเพณีท้องถิ่น
ประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่นโดยทั่วๆ ไปของตำบลหนองเต่ามีประเพณีหลายประเพณี เช่น ประเพณีการแต่งงาน บวชนาค งานศพ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง และประเพณีการตักบาตรเทโว และที่สำคัญและแปลกกว่าอำเภออื่น อำเภอเก้าเลี้ยวมีประเพณีของชาวไทยทรงดำ
ประเพณีกาแต่งงาน
ประเพณีของชาวตำบลหนองเต่า ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับตำบลอื่นๆ คือ เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเกิดความรัก และพอใจซึ่งกันและกัน ซึ่งฝ่ายหญิงฝ่ายชายเห็นชอบด้วย ฝ่ายชายก็จะไปขอฝ่ายหญิง โดยให้ผู้ใหญ่ที่เรียกว่า เถ้าแก่ ไปสู่ขอฝ่ายหญิง และจะมีการกำหนดการแต่งงานกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดในเดือนคู่ เช่น เดือนยี่ เดือนหก เดือนแปด เดือนสิบ เดือนสิบสอง แต่ในปัจจุบันนิยมที่จะแต่งในเดือนเก้าด้วย เนื่องจากถือเคล็ดว่าจะทำให้ชีวิตสมรสก้าวหน้า ตามความเชื่อของประเพณีชาวจีน พิธีจะจัดที่บ้านฝ่ายหญิง จะมีพิธีสงฆ์ การยกขันมาก พิธีหลั่งน้ำสังข์ พิธีผูกข้อมูล และส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าหอ

ประเพณีบวชนาค
ชาวตำบลหนองเต่า ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และถ้ามีบุตรหลานอายุครบที่จะบวชได้ ก็จะให้บุตรหลาน ได้บวชศึกษาพระธรรมวินัย โดยจะพาไปฝากวัดที่จะมาอุปสมบทกับเจ้าอาวาส เพื่อขอฉายา และให้อยู่วัดเพื่อท่องขานนาค และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีสงฆ์
ในวันบวชจะต้องโกนผม แต่งตัวด้วยชุดสีขาว ทำขวัญนาค หลังจากนั้นนำนาคไปบวชที่อุโบสถ แล้วทำพิธีฉลองพระบวชใหม่ที่บ้านตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นหรือตอนเพลในวันเดียวกัน

ประเพณีงานศพ
การจัดศพของชาวบ้านตำบลหนองเต่า ส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่อื่นๆ คือ เมื่อมีคนตายก็จะมีการอาบน้ำศพแล้วนำไปตั้งศพบำเพ็ญกุศล การบำเพ็ญกุศลมีดังนี้ ตอนค่ำ นิมนต์ พระ 4 รูป สวดพระอภิธรรม นิยมสวด 3-5 วัน แล้วแต่เจ้าภาพหลังจากนั้นก็ทำการเผาศพ ในพิธีเผาศพนิยมให้ลูกหลานบวชเณรเพื่อจูงศพ หรือที่เรียกว่า บวชหน้าไฟ ก่อนเผาศพมีพระเทศน์หน้าศพ 1 กัณฑ์ สวดมาติกา ทอดผ้าบังสุกุล เมื่อเผาแล้วมีการเก็บอัฐิ จะทำในวันรุ่งขึ้นหลังจากการเผาศพ ต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน น้ำหอม ผ้าขาวสำหรับห่ออัฐิ และนำไปเก็บในโกศ หลังจากงานศพแล้ว จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย คือ ทำบุญ 7 วัน 50 วัน หรือ 100 วัน หรือทำบุญครบรอบวันตาย
ประเพณีสงกรานต์
ในวันที่ 13 - 15 เมษายน ของทุกปี ชาวตำบลหนองเต่า จะจัดประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เป็นการขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดสืบทอดกันมา จะมีการละเล่นในวันสงกรานต์ มีการสาดน้ำ และประเพณีสงกรานต์ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวตำบลหนองเต่า เนื่องจากชาวหนองเต่านิยมการสรงน้ำพระและการอาบน้ำผู้ใหญ่ ชาวตำบลหนองเต่าจะผลัดกันสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ในแต่ละหมู่บ้านจะจัดไม่ตรงกัน แต่ละวัดหรือหมู่บ้าน จะจัดงานรื่นเริงอย่างใหญ่โต ส่วนวัดต่างๆ ในตำบลหนองเต่า ได้จัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำ พระก่อเจดีย์ทราย และในตอนกลางคืน บางวัดจะมีมหรสพให้ชม
ประเพณีปาดตงข้าวใหม่
ปาดตงข้าวใหม่ หมายความว่า ได้กินข้าวใหม่แล้วจะต้องให้ผีเรือนมากินข้าวใหม่ก่อน เพือจะได้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ในสมัยก่อนชาวไทยดำทรงดำทำนา จะทำพิธีปาดตงข้าวใหม่ โดยเชิญญาติพี่น้องที่เป็นผีเดียวกันมาร่วมพิธีด้วย พิธีนี้นี้เจ้าของบ้านจะเป็นผู้ทำพิธีและจัดให้เสร็จภายในวันเดียว พิธีปาดตงข้าวใหม่เป็นพิธีที่ชาวไทยทรงดำหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะทำปาดตงข้าวใหม่ โดยจะทำ 1 ปีต่อครั้ง จัดขึ้นราวเดือนอ้าย เดือนยี่ โดยเตรียมข้าวเม่า (ข้าวในนานำมาคั่วแล้วตำ) นึ่งข้าวเหนียว ข้าวฮางปางข้าวใหม่ (ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเหนียว มานึ่งแล้วนำมาตากแดดให้แห้ง เมื่อตากแดดแห้งแล้วก็เอาไปตำฟาดแกลบออก เอาแต่เมล็ดข้าวเหนียวมานึ่งอีกครั้งหนึ่ง) ข้าวตะหลาย (เป็นเมล็ดข้าวเหนียวที่เกี่ยวมาตากแล้วนำมาสีมาตำเป็นข้าวเหนียว)
พอถึงวันปาดตงจึงนำข้าวเหนียว ข้างฮาง ส่วนข้าวเม่าคลุกเคล้ากับมะพร้าวขูดพรมน้ำเกลือ ขนมข้าวต้มมัด ขนมนมสาว (ขนมเทียน) อ้อย กล้วย เผือก มัน และผลไม้แล้วแต่จะหาได้ไก่ 1ตัว สำหรับทำแกงใส่หน่อไม้ ซึ่งแกงไก่ใส่หน่อไม้นี้จะขาดไม่ได้ นอกจากแกงหน่อไม้แล้ว จะมีแกงและอื่นๆ เช่น ผักจุ๊บ ผักแว่น ผักบุ้ง แจ่ว ปลาร้า เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้วก็เริ่มพิธีปาดตงเครื่องเซ่นที่เตรียมใส่สำรับมีเล้า 1 ขวด ขันหมาก ขันน้ำ ข้าวเหนียวใส่กล่อง ข้าวเม่า ข้าวฮางใส่ถ้วย แล้วจัดสำรับทั้งคาวแล้วหวานไปไว้ที่กะล่องหองวางไว้บนเสื่อที่ปูเตรียมไว้ จากนั้นเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านก็จะเรียกให้ผีปู่ย่า ตายาย มากิน โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นจึงเรียกญาติพี่น้องมากินปาดตงข้าวใหม่

คำแปล
คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย วันนี้ลูกหลานได้นำอาหารเช้าข้าวปลาอาหารมาเซ่นไหว้ขอให้ท่านทั้งหลายมารับโดยพร้อมกัน และขอให้ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ลูกหลานอยู่ดี มีสุขทุกๆคนด้วยเถิด

พิธีเสนปาดตง
ชาวไทยทรงดำแทบทุกครัวเรือนที่บ้านบางใหญ่ จะมีผีเรือนประจำบ้านและจะต้องทำพิธีนี้เนื่องจากเป็นการปฏิบัติเพื่อระลึกถึงพ่อแม่และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้มีของกินเหมือนที่ยังมีชีวิตอยู่ คำว่า "ปาดตง" แปลว่า วางตั้งไว้ หมายความว่า นำเครื่องเซ่นไปให้ผีเรือนกินที่กะล่อหาง (ในห้องที่อยู่บนบ้าน) วันเซ่นไหว้นี้เรียกว่า "มื้อเวนตง" (มื้อ แปลว่า วัน) มื้อเวนตงจะมี 10 วัน คือ มื้อก่า มื้อกาบ มื้อฮับ มื้อเมิง มื้อเปิก มื้อกัด มื้อขด มื้อฮวง และมื้อเต่า การเลือกวันปาดตงของแต่ละบ้าน เป็นมื้อเวนตงที่สุดแต่ว่าวันเชิญผีเรือนบ้านนั้นจะตรงกับวันใด คือมักเป็นวันขึ้นบ้านใหม่ที่เชิญมาเป็นผีเรือนซึ่งไม่ตรงกับวันตายของพ่อแม่ การปาดจะทำ 2 เวลา คือมื้อเช้า และมื้อกลางวัน คนที่กล่าวเชิญผีเรือนให้มากินจะเป็นคนในบ้านเรือนนั้น
การปาดตงของผู้ท้าวและผู้น้อยจะปาดไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ผู้ท้าวต้องทำปาดตงทุกๆ 5 วัน ส่วนผู้น้อยต้องทำปาดตงทุกๆ 10 วัน โดยมีข้าว กับข้าวใส่ถาดนำไปวางไว้ที่มุมห้องของผีเรือน อาหารที่เซ่นก็เป็นอาหารที่กินอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องให้ผีเรือนกินก่อน ข้าวที่ใช้จะเรียกว่า ข้าวปากหม้อ ตอนปาดตงต้องปาดให้ตรงวันที่ถูกต้อง ถ้าปาดไม่ถูกตรงผีเรือน ผีเรือนจะไม่ได้รับอาหารที่เซ่นไหว้ หรือถ้าลืมปาดก็ให้ผ่านไป ตัวอย่างที่เชิญผีเรือนมารับอาหารที่เซ่นไหว้ คำกล่าวที่เชิญเป็นภาษาไทย "ข้าวกับข้าวสุกแล้วเอามาปาดตงให้กิน ปู่ ย่า พ่อ แม่ พี่น้อง ที่อยู่บ้านนี้มากินพร้อมกัน"
คำกล่าวเชิญที่เป็นภาษาไทยทรงดำว่า
"ข้าวซุกมาโป่ง งายตงมาปาด ปู่ร่ำ ย่าด่ำ เจื้อกันมากินจู่น่า ปากั่นมากินจู่คน ฟันมามะปะมากิน กินแล้วให้กุ้มใก้กวม ลุเต้าลุหลายไปเซาะมาตอง ปลอดภัย เอ็ดเจ๋อดี คือยังผู้ เอ็ดเจ๋อฮู๋ คือยังคมน้องจายจะปายไข้ลุเต้าลุหลาน เน้อ"
คำแปล
"ข้าวสุกยกมาปาดตง มาปาดปูชวด ย่าชวด พาชวนกันมากินทุกคนมากินปากทั้งฟันมากินแล้วให้คุ้มครองลูกเต้าลูกหลาน เดินทางไปมาให้ปลอดภัยทำใจดีเหมือนยังเป็นอยู่ การเจ็บไข้ถ้าเป็นก็อย่าซ้ำเติมลูกเต้าลูกหลาน"

พิธีเสนเฮือน
ในเดือน 4 เดือน6 เดือน 12 ของทุกปี ชาวไทยทรงดำ บ้านยางใหญ่ หมู่ที่ 3 จะจัดพิธีเสนเฮือน คำว่า "เสน" หมายถึง "เซ่น" หรือสังเวย ส่วนคำว่า "เรือน หรือ เฮือน" หมายถึง ผีเรือน ซึ่งตามความคิดของคนไทยทรงดำนั้น หมายถึง ผู้ที่ตายไปแล้ว และอยู่ในสิงเดียวกัน(สิง หมายถึง แซ่หรือตระกูล) แต่ละครอบครัวจะมีสมุดจดชื่อผู้คนในตระกูลของตนที่ตายไปแล้ว เรียกว่า "ปั๊บผีเรือน" เก็บไว้ทุกบ้าน พิธีเสนเฮือนนิยมทำ 2 - 3 ปีต่อครั้ง เพื่อให้ผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น เป็นพิธีการระลึกถึงบุญคุณผู้ที่ตายไปแล้ว และเพือให้การปกปักรักษาคุ้มครอง ถ้าไม่ทำก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ดี วันจัดพิธี แต่ละบ้านจะไม่ทำพร้อมกัน โดยดูจากการไล่วันของโซ่ง และวันต้องไม่ตรงกับวันตาย วันเผา วันปาดตง
พิธีเสนเฮือนเริ่มด้วยการนำหมูตัวผู้ที่เลี้ยงไว้มาที่พิธีฆ่าและชำแหละที่กะล่อหอง (ที่อยู่ของผี) แล้วนำชิ้นส่วนต่างๆ ไปต้ม ในตอนเช้าตรู่จะจัดปานเผือน (ปานเผือนหมายถึง ภาชนะจัดสานแบบโบราณของโซ่งมีลักษณะคล้ายกระจาดหรือกระด้ง) โดยใส่เนื้อหมูไว้ในล่างสุด และขนมเครื่องเซ่นอื่นๆ ไว้ด้านบน ประมาณเจ็ดโมงเช้าหมดเสนจะประกอบพิธีเซ่นผีเรือนที่กะล่อหอง ซึ่งมีของสำหรับประกอบพิธีวางอยู่ ได้แก่ แานเผือนบรรจุเครื่องเซ่น กะแอบข้าวเหนียวนึ่ง ตะเกียบ 1 คู่ น้ำ 1 ชาม และปั๊บผีเรือน 1 เล่ม หมอเสนใส่เสื้อฮี และกล่าวภาษาไทยทรงดำร้องเรียกให้ผีเรือนมารับเครื่องเซ่น จากนั้นจะอ่านรายชื่อผีเรือนจากปั๊บผีเรือนที่ละราย และคีบเครื่องเซ่นใส่ลงในช่องฝากระดานให้ผีเรือนแต่ละรายจนหมดรายชื่อ ในระหว่างนั้นจะหยดน้ำลงไปในช่อง ให้ผีเรือนได้ดื่ม เมื่อเสร็จพิธีจะเอาเครื่องเซ่นออกจากปานเผือนมาแบ่งปันกันให้บรรดาญาติและผู้ร่วมงาน จากนั้นหมอเสน เจ้าของบ้านและญาติ จะร่วมรับประทานอาหารในห้องผีเรือน ส่วนแขกที่มาร่วมงานรับประทานอยู่นอกห้องผีเรือน ผู้มาร่วมในพิธีเสนมีดังนี้
1. ญาติผีเดียวกัน ประกอบด้วย
กลุ่มสายโลหิตเดียวกัน หมายถึง บุคคลที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน เช่น ลูก พี่ น้อง น้า อา คนกลุ่มนี้ แต่งกายด้วยชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันกลุ่มญาติจากการแต่งงาน หมายถึง บุคคลที่เป็นน้อง ลูก หลาน ซึ่งเป็นสะใภ้ หรือแขกผีเรือน คนกลุ่มนี้แต่งกายด้วยเสื้อฮีในเวลาทำพิธี
2. แขกรับเชิญ
เป็นบุคคลที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงและผู้เคารพนับถือ การแต่งกายจะเป็นชุดธรรมดาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ประเพณีชุมนุมไทยดำทั่วประเทศ
เป็นประเพณีที่นายวิเชียร เชื่อมชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางใหญ่เป็นผู้ริเริ่มขึ้น จากการที่ได้เคยได้เข้าร่วมพิธีชุมนุมชาวไทดำทั่วประเทศ ผอ.วิเชียร จึงได้เริ่มชุมนุมชาวไทดำขึ้นในหมู่บ้านยางใหญ่ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน 5 (ราววันที่ 10 เมษายน) ของทุกปี ประเพณีจะเริ่มขึ้นโดยชาวไทดำทั่วประเทศจะมาชุมนุมกันในช่วงเช้าและจะมีการละเล่นของชาวไทยดำ และพบปะสังสรรค์กันในเวลากลางคืน ด้วยการจัดการแสดงบนเวที และสนุกสนานรื่นเริงกันจนกระทั่งเวลาประมาณเที่ยงคืน
 
|