ในหลวงกับการศึกษาไทย
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 5 ธันวาคม 2546 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวางแผน และกำหนดนโยบายทางการศึกษาของชาติ ได้ตระหนักดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่การพัฒนาการศึกษาของไทย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดมา
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม และเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ "ในหลวงกับการศึกษาไทย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมการพัฒนาการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องในพระราชดำริ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย พระราชปณิธานและพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษา รวมทั้งพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการสร้างคน และการพระราชทานทุนการศึกษาซึ่งพสกนิกรได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาญาณและสายพระเนตรอันยาวไกล ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงสุดในการพัฒนาประเทศ และส่งผลให้ปวงชนชาวไทยมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน พระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษาในระบบโรงเรียน
คำสอนพ่อ
. . วิธีการที่จะให้บ้านเมืองมั่นคงและเจริญก้าวหน้านั้นมีอยู่หลายอย่าง ข้อแรกคือจะต้องให้เข้าใจว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ ซึ่งโดยเฉพาะสำหรับเยาวชน ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะทราบว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพราะว่าบางคนก็ได้รับคำบอกให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เราทำไปอาจผิดก็ได้ เมื่อมีกิจการอะไรที่จะทำ ขอให้ทุกคนใช้ความคิดพิจารณา ความคิดพิจารณานี้แปลว่า ฟังว่ากิจการจะมีอะไร เขามาบอกว่าให้ทำอะไร แล้วก็มาคิดด้วยความคิดของตัว คือให้มีเหตุผล เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องมีเหตุผล ที่เขามาบอกให้ทำอะไร ต้องให้เข้าใจว่าสมเหตุสมผล . . .
. . . ผู้ที่เป็นเยาวชนที่จะต้องทำหน้าที่สำหรับรักษาบ้านเมืองต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่ออายุถึงขั้นที่จะเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ ได้เล่าเรียนมาแล้วเพื่อให้ปฏิบัติงานของชาติได้ต่อไป ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติงานนั้น ในเวลานี้ก็จะต้องหาความรู้ใส่ตัว ฝึกฝนจิตใจ ฝึกฝนความคิดที่ดี เพื่อให้เข้าใจ ให้มีความคิดพิจารณา ให้มีเหตุผลที่แน่นแฟ้น มีเหตุผลที่จะใช้การได้ เพื่อแยกสิ่งที่ดีที่ควรทำจากสิ่งที่ไม่ดีที่ไม่ควรทำ ฉะนั้น หน้าที่ของเยาวชนก็คือเรียนรู้ แล้วก็นอกจากเรียนรู้คือเมื่อเรียนแล้ว ก็เริ่มช่วยกันสร้างความมั่นคงแก่บ้านเมือง โดยใช้ความรู้ที่ได้มาให้เป็นประโยชน์พัฒนาบ้านเมืองให้มั่นคง . . .
. . . การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตน ในความเพียรของ ตนต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปีหรือสามปีข้างหน้า . . .