ภูมิหลังและความสำคัญ
ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นของไทย ส่วนใหญ่มีแก่นสารมีคุณค่าและมีรากเหง้าแห่งความดีเป็นนิรันดร์ ทำให้บ้านเมืองและประเทศชาติ อยู่รอดปลอดภัยอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีความรัก ความสามัคคี มีความเอื้ออาทร และมีความเป็นไทยหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นควรตระหนักถึงความจำเป็นความสำคัญและประโยชน์ของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ในจังหวัดนครสวรรค์มีหมู่บ้านหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้ทำการประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านานกว่า 200 ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบันอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาก็ยังปรากฏให้เห็นในหมู่บ้าน และเป็นอาชีพหลักซึ่งแตกต่างกับหมู่บ้านอื่นในตำบลนั้น ส่วนใหญ่หมู่บ้านอื่นๆจะประกอบอาชีพทำนา ทำสวนหรือทำไร่ หมู่บ้านที่กล่าวมานี้ คือ หมู่บ้านมอญ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
ดูจากชื่อ บ้านมอญ ก็น่าจะมีความสัมพันธ์กับชาวมอญบ้างอย่างแน่นอน จากการถามชาวบ้านจากหมู่บ้านมอญ ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ เช่น ยายสำเภา เลี้ยงสุข อายุ 80 ปีซึ่งยังคงปั้นโอ่งกับลูกหลานด้วยความชำนาญ และพบว่าเครื่องมือที่ใช้ก็ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคต้นๆแล้ว เช่น แป้นหมุนมือ เตาเผาโบราณ ซึ่งใช้ฝืนเป็นเชื้อเพลิงในการเผา จากการซักถามได้ทราบความเป็นมาของหมู่บ้านมอญในอดีตว่า
ชาวมอญจำนวน 4 ครอบครัว ได้อพยพหนีสงครามมาจาก อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่
- ครอบครัว “ เลี้ยงสุข ”
- ครอบครัว “ ช่างปั้น ”
- ครอบครัว “ เรืองบุญ ”
- ครอบครัว “ แก้วสุทธิ ”
ครอบครัวมอญดังกล่าวมีความชำนาญในการปั้นโอ่งเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว ในช่วงแรกที่อพยพมาก็ปั้นโอ่งขายในแถวบ้านใกล้เคียง โดยนำดินเหนียวมาจากบริเวณบึงในเขตอำเภอเมืองบ้านแก่งมาทดลองเผา ปรากฏว่าดินที่ใช้เผาแล้วเนื้อดินไม่แตกกรานและไม่ประทุมท่อใส่ไฟแรงจึงใช้ดินเหนียวในบริเวณนั้นมาปั้นตลอดโดยไม่มีวันหมด เนืองจากเวลาน้ำท่วมบึงดินเหนียวบริเวณใกล้เคียงมารทับถมใหม่ มีสภาพเป็นดินเหนียวที่ใช้ปั้นและเผาได้อย่างมีคุณภาพที่ดีเช่นเดิมนับว่าสภาพสิ่งแวดล้อมได้เอื้ออำนวยต่อชาวบ้านมอญในการประกอบอาชีพอย่างยิ่ง
|