Ran khaa ya
     
 
 
แฟชั่น "รัดติ้ว-สั้นเต่อ" ชุดนักศึกษา หวิวไม่หยุดฉุดไม่อยู่?

     กว่า 2-3 ปีมาแล้วที่กระแส “แฟชั่นหวิว” แบบนี้เริ่มขยายวง และก็กว่า 1 ปีมาแล้วที่เรื่องนี้มีการพูดถึงในฝ่าย “การศึกษา” จนล่วงเลยมาอีก 1 ปี มาถึงปลายปี 2549 นี้ เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นในฝ่าย “วัฒนธรรม”

รื่องของแฟชั่นหวิวที่แฝงอยู่ใน “ชุดนักศึกษาหญิง”

“เสื้อรัดติ้ว-กระโปรงสั้นเต่อ” แฟชั่นที่ระบาดไปทั่ว...

        “ตอนนี้ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าระเบียบ การแต่งกายน่าจะเขียนว่าอย่างไรถึงจะรัดกุม และครอบคลุมได้มากที่สุด” ...เป็นการระบุผ่าน สื่อเมื่อเร็ว ๆ นี้ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ที่บางคนฟังแล้วก็อาจจะอึ้ง ๆ ...เป็นการระบุหลังกระทรวงวัฒนธรรมเสนอให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ “ทบทวนกฎระเบียบการแต่งกายของนิสิตนักศึกษา” โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาหญิง ที่ยุคนี้มักจะสวมใส่เสื้อฟิต ๆ และกระโปรงที่สั้นมาก ๆ อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่ นอกจากผู้ใหญ่แล้ว “วัยรุ่น-นักศึกษา” เองก็เคยมีการพูดถึงมาโดยตลอดในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าคิด แม้ว่าในทางปฏิบัติแฟชั่น “ชุดนักศึกษาหวิว” ยังคงแพร่ไม่หยุด นักศึกษาหญิงที่ไม่ตามแฟชั่นรายหนึ่งที่ชื่อ อัมาวสี เคยกล่าวไว้กับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... “เสื้อก็คับติ้วและลอยขึ้น กระโปรงนอกจากสั้นแล้วยังเอวต่ำลงอีก มันจะเกิดอะไรขึ้น น่าห่วงมาก”ขณะที่นักศึกษาหญิงบางคนก็บอกว่า...ที่ต้องใส่เพราะไม่มีทางเลือก อย่างรายของ ช่อลัดดา ที่ระบุว่า... จำเป็นต้องใส่ตามคนอื่น เพราะทำไปทำมากลายเป็นว่าร้านขายชุดนักศึกษาทั่วไปไม่นิยมทำชุดมาตรฐานขาย อย่างเสื้อก็จะทำแต่ไซซ์นิยมคือ SS หรือ SSS ทั้งที่เธอเองก็อยากจะให้ถูกระเบียบสถาบัน...แต่ก็ยาก“ยุคนี้หาชุดถูกระเบียบเป๊ะ ๆ ยาก เดี๋ยวนี้ร้านไหนขายเสื้อถูกระเบียบ...ไม่มีแล้ว ขายไม่ได้ นักศึกษาเองเขาก็ไม่นิยมใส่ ยุคนี้ไม่มีใครสนใจแล้ว...ใครจะมองก็มองไป กลายเป็นมาตรฐานในกลุ่มนักศึกษาไปหมดแล้ว ใครไม่ใส่สิเชย จะถูกมองว่าเป็นคนแปลกประหลาด”

         ...เป็นคำกล่าวของนักศึกษาหญิงรายนี้ ซึ่งเธอยอมรับว่า... ที่เธอต้องแต่งชุดนักศึกษาแบบที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากนี้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็เกิด “สังคมเพื่อนนักศึกษาพาไป” ด้วย... “แรก ๆ ใส่ก็อาย แต่นานไปก็กลายเป็นมั่นใจ” ...เธอว่าจากคนที่ทานกระแส สู่คนที่ปล่อยตัวไปตามกระแส มาต่อกันด้วยนักศึกษาหญิงที่อยู่แถวหน้าของกระแสแฟชั่นชุดนักศึกษาหญิงรัดติ้ว-สั้นเต่อที่ชื่อ อัญชลี ที่บอกไว้ว่า... ถึงเธอจะแต่งตัวแบบนี้ แต่การเรียนก็ไม่เคยตก บางคนแต่งตัวสุดเปรี้ยวแต่ผลการเรียนดีมาก เป็นคนที่เก่งที่สุดในห้องก็มี

        “อย่าใช้เรื่องการแต่งตัวมาเป็นมาตรฐานชี้วัดได้มั้ย ผู้ใหญ่ควรจะดูที่ความคิดหรือที่ ผลการเรียนจะดีกว่ามาคอยนั่งจับผิดเรื่องแบบนี้ ไม่อยากให้เหมารวมว่านักศึกษาที่แต่งตัวแบบนี้เป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กใจแตก เพราะคนเราจะดีหรือไม่ดีไม่ได้ขึ้นกับการแต่งกาย” ...อัญชลีกล่าวเสียงฉุน ๆ ก่อนจะบอกต่อไปอีกว่า... สำหรับเธอแล้วการแต่งตัวแบบนี้เหมือนเป็นการ “คลายเครียด” เป็นการ “ระบายอารมณ์” อย่างหนึ่ง และไม่ปฏิเสธว่าการ “แหกกฎ” ในบางเรื่อง การทำผิดระเบียบ ทำให้ “สนุกแต่เธอก็มั่นใจว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เสียหายกับคนอื่น !! “บอกไม่ถูก แต่รู้สึกดีนะ ไม่รู้สิ...อาจจะเป็นเพราะนี่เป็นธรรมชาติของเด็กวัยอย่างเราก็ได้ และหนูว่าคนที่แต่งตัวแบบนี้เขาจะต้องมั่นใจ เขาก็ต้องระมัดระวังอยู่แล้ว ยกเว้นเสียแต่ว่าเขาจะตั้งใจแต่งให้คนอื่นมอง ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาที่จะทำ เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล” ...เธอคนนี้คิดเห็นอย่างนั้น อย่างไรก็ดี เมื่อลองถามนักศึกษาชายในเรื่องแฟชั่นชุดนักศึกษาหญิงยุคนี้ นักศึกษาชายที่ชื่อ ปัญญา บอกว่า... “มันก็ไม่ถูกนะ...กับการที่จะมาแต่งตัวเพื่อที่จะอวดของที่ควรสงวน ผมว่ามันไม่ดีนะ...แต่ก็ชอบดู ดูแบบสมเพชมากกว่าดูว่ามันสวยงาม”ขณะที่ สุทิน นักศึกษาชายอีกรายก็ไปไกลถึงขั้นที่ว่า... “ผู้ชายก็ชอบมองนะ...พวกที่นุ่งสั้น-เสื้อนมระเบิด แต่ถ้าจะให้จีบมาเป็นแฟน ...บอกเลยว่าไม่เอา คือมันส่อถึงตัวตนของเขาเลยนะ” ...สุทินกล่าว

         “ฝ่ายสถาบันการศึกษาเองก็ผิด ที่มีส่วนปล่อยให้กระแสแบบนี้ลามไปทั่วจนยับยั้งยาก รวมถึงผู้ค้าที่หากินกับการขายชุดนักศึกษาก็ยึดถือผลกำไรเป็นหลัก จนไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม” ...ส่วนนี่เป็นคำกล่าวของผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งนักการศึกษารายนี้ยังบอกด้วยว่า... “ปัญหานี้จะโทษเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องไม่ลืมที่จะมองฝ่ายอื่น ๆ ด้วย”และปิดท้ายด้วยมุมของฝ่ายเอ็นจีโอด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนรายหนึ่ง ที่เคยระบุผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ว่า... “สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าคือต้องชี้ให้ตระหนักถึงความน่ากลัวของภัยที่มาจากการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ล่อแหลม ให้เห็นถึงอันตราย น่าจะดีกว่าการใช้กฎเกณฑ์บังคับ” ทั้งหมดทั้งมวลก็คงต้องขึ้นอยู่กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง... ณ ที่นี้ก็แค่สะท้อนเสียงฝ่ายต่าง ๆ สู่สังคมอีกครั้ง... หลังเรื่องนี้ดูท่าต้องให้เทรนด์แฟชั่นซาไปเอง ???.

 
 
     
     

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีบนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม จังหวัดนครสวรรค์
การแข่งขันพัฒนาเว็บไซต์ ใน งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2550 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน