Ran khaa ya
     
 
 

ชุดนักศึกษาวาบหวิว

      ประเด็นเรื่องการแต่งตัววาบหวิวของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน ยังคงเป็นข้อถกเถียงจนยากที่จะหาที่สิ้นสุด ซึ่งแนวความคิดด้านการจัดระเบียบชุดนักศึกษาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ได้มีการพัฒนา กัน อย่างต่อเนื่องจากสถาบันการศึกษาต่างๆ แต่ปัญหากลับอยู่ที่การเอาจริงเอาจัง ความเด็ดขาด และการมีกฎเกณฑ์หรือกฎหมายออกมารองรับอีกทีหนึ่ง

       อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความคิดซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้วด้วยกัน
ฝ่ายแรกเห็นว่า ควรมีการจัดระเบียบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ เครื่องแบบนักศึกษาที่ฟิตรัดติ้วจนถึงขั้นโป๊ ซึ่งเน้นการโชว์สรีระ ส่วนอีกฟากหนึ่งกลับมีความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร วันนี้ ผมขออนุญาตนำเสนอ ผลงานวิจัยที่จะช่วยให้ ท่านผู้อ่าน พิจารณาว่า หลักการดังกล่าวมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ก่อนจะพูดในเชิงสถิติ ขอพูดถึงความหมายของคำว่า "ยูนิฟอร์ม" (Uniform) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจชัดเจนเสียก่อนว่ายูนิฟอร์มนั้นม ีความสำคัญอย่างไรต่อองค์กรหรือสถาบันต่างๆ

          สำหรับตัวผมเอง ยูนิฟอร์ม คือ เครื่องแบบที่นำเสนอความเป็นมาตรฐาน กล่าวคือ ผู้ใดที่สวมใส่ยูนิฟอร์มจะทราบกันดีว่าสังกัดกลุ่มใด สถาบันไหน เป็นคนของมหาวิทยาลัยที่ไหน และที่สำคัญคือเป็นการนำเสนอความเป็นเอกภาพของสถาบันนั้นๆ ส่วนในด้านสปิริตแล้วนั้นยูนิฟอร์มมีความสัมพันธ์กับศักดิ์ศรี เป็นการให้เกียรติต่อสถาบันที่เราพึ่งพาอาศัย ซึ่งครอบคลุมไปถึงการแสดงออกในด้านการจงรักภักดีนั่นเองครับ

         ดังนั้น ยูนิฟอร์มจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญดั่งธงชาติของประเทศนั้นๆ แต่ในปัจจุบันความหมายของยูนิฟอร์มกลับผิดเพี้ยนไปเพราะเป็นเรื่องของการออกนอกกรอบ การสร้างความแตกต่าง กลายเป็นกระแสแฟชั่น แต่ถ้าจะให้พูดตามเนื้อผ้าแล้วนั้นยูนิฟอร์มใช่ว่าต้องอยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัดซะทีเดียว แน่นอนที่สุดว่ายุคสมัยย่อมเปลี่ยนไป

        ความคิดของคนและความเชื่อในอิสระเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางสังคมยุคปัจจุบัน ดังนั้น ถ้าโป๊เกินไปอาจแลดูไม่เหมาะสม ส่วนเข้มงวดเกินไปอาจเป็นการบังคับ ผมว่าเจอกันตรงกลางน่าจะเหมาะสมมากกว่า จึงพอสรุปได้ว่ายูนิฟอร์มสามารถเปลี่ยนเป็นแฟชั่นได้ แต่ต้องมีมาตรฐานเหมาะสมต่อคนส่วนมาก

         นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ค่านิยมของการแต่งชุดนักศึกษาที่วาบหวิวนั้นทางสถาบันการศึกษาทั้งหลายต่างพยายามปรับเปลี่ยน ส่งเสริมให้นักศึกษาแต่งกายให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น แต่ปัญหาคือควบคุมไม่ได้เพราะสถาบันไม่เข้มงวด สถาบันบางแห่งก็มีความเป็นทุนนิยมมากเกินไป กล่าวคือ มองนักศึกษาเป็นดังลูกค้าที่ต้องตามใจ มิเช่นนั้นถ้ามีใครพูดว่าสถาบันแห่งนี้เชยไม่ทันสมัยแล้วใครจะมาเรียน

        ทั้งนี้ เรื่องราวและเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กระทรวงวัฒนธรรมเกิดการตื่นตัว และเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้อยู่ในวาระแห่งชาติเลยทีเดียว ส่วนในเชิงสถิติที่เป็นผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ให้ข้อสรุปว่า การแต่งกายของนิสิตนักศึกษาจะก่อให้เกิดผลเสียหรือปัญหาอาชญากรรม อาทิ การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืนมากถึงร้อยละ 59.9 รองลงมาคือ เสื่อมเสียต่อสถาบันและตนเองร้อยละ 17.8 และก่อปัญหาจี้ปล้นวิ่งราวทรัพย์ร้อยละ 5.10 ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขนั้น นิสิตนักศึกษาร้อยละ 47.5 เห็นว่าควรใช้กฎระเบียบสถาบันการศึกษามาเป็นตัวบังคับอย่างจริงจัง ร้อยละ 30.2 ใช้การรณรงค์หรือชักจูงใจให้นิสิตนักศึกษาหันมาแต่งกายให้เหมาะสม ร้อยละ 15.7 เห็นควรใช้มาตรการทางกฎหมายในการบังคับให้ผู้ผลิตเลิกผลิตเสื้อนักศึกษาที่ฟิตโป๊ หรือมีขนาดเล็กเกินไป แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกเมื่อร้อยละ 60 กลับเชื่อว่าปัญหาเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสมยังคงมีอยู่ ซึ่งร้อยละ 22.3 เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถหมดไปได้ ส่วนผลงานวิจัยอีกประเภทหนึ่งในหัวข้อ "ความคิดเห็นต่อปัญหาการแต่งกายของนิสิต" โดยเก็บข้อมูลจากนิสิต นักศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาจากสถาบันการศึกษารัฐและเอกชนทั่วประเทศ 19 แห่ง จำนวน 1,743 คน เพศชายร้อยละ 36.9 เพศหญิง 63.1 ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 16 กรกฎาคม 2550 สรุปผลได้ดังนี้

         การแต่งกายนิสิต นักศึกษาในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน มีนิสิต นักศึกษาเห็นด้วยร้อยละ 72.6 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 12.8 ไม่แสดงความคิดเห็นร้อยละ 14.6 และถือว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงร้อยละ 54.2 สุดท้ายก่อนจากกันไปในวันนี้ผมขอแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องของความเหมาะสมเป็นสิ่งที่ควรเจอกันตรงกลาง ไม่เคร่งเกินไป และไม่ฟรีจนเกินไป แต่อย่างน้อยขอให้เรารับรู้ว่าความหมายของยูนิฟอร์มภายใต้สถาบันการศึกษาที่สังกัดอยู่นั้น มีความสำคัญมากกว่าค่านิยมที่ผิดๆ ดังที่เป็นแฟชั่นอยู่ทุกวันนี้ เพราะการที่เราไม่ได้ให้เกียรติยูนิฟอร์มอาจทำให้คนอื่นเขามองว่า เราไม่ให้เกียรติต่อตนเองและสถาบันการศึกษาที่เราสังกัดอยู่นะครับ

 
 
     
     

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีบนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม จังหวัดนครสวรรค์
การแข่งขันพัฒนาเว็บไซต์ ใน งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2550 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน