ประเพณีสารทเดือนสาม เป็นประเพณีที่แสดงความสามัคคี ความพร้อมเพรียงของชาวไทยเชื้อสายมอญที่มาร่วมกันลงแรงกายและแรงศรัทธา จัดพิธีเผาฟืนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่พระภิกษุสงฆ ์และจัดทำข้าวหลามถวายพระ สงฆ์ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชน จัดพิธีกรรมก่อนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ชาวบ้านฝ่ายชายจะจัดเตรียมตัดแต่ง"ต้นโอ๊ะต้าน" คำว่า โอ๊ะต้านเป็นภาษามอญ "โอ๊ะ"แปลว่าฟืน "ต้าน"แปลว่าทาน "โอ๊ะต้านแปลว่าการทำทานฟืน" โอ๊ะต้านเป็นต้นไม้สำคัญที่ใช้ในพิธีสารทเดือนสามร่วมกับข้าวหลามและดอกทอง ในการประกอบพิธีโอ๊ะต้านจะต้องใช้กิ่งโอ๊ะต้านเสียบด้วยดอกทอง ปัจจุบันต้นไม้ชนิดนี้หายาก จึงใช้ต้นนกยูงป่าหรือต้นกระถินแทน แต่ก็ยังเรียกว่า ต้นโอ๊ะต้าน เมื่อตัดแต่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปปักไว้รอบ ๆ เสาที่ปักเตรียมไว้ที่ลานวัด พร้อมกันนั้นก็จะนำหญ้าคามามัดติดกับโคนกิ่งโอ๊ะต้านเพื่อให้ไฟติดได้ดี เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ฝ่ายชายจะจุดไฟเผากิ่งโอ๊ะต้านจนเหลือเป็นถ่านเสร็จแล้วแบ่งถ่านที่ได้ออก เป็นสามกอง เพื่อถวายพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หลังจากนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์มานั่งล้อมวงรอบกองไฟในบริเวณพิธี มัคนายกกล่าวถวายกองฟืนที่เหลือเป็นกองถ่าน แล้วถวายข้าวหลามพร้อมเครื่องดื่ม หลังจากเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ก็จะให้พรเป็นเสร็จพิธี หลังจากนั้นชาวบ้านต่างก็จะแลกเปลี่ยนข้าวหลามกันรับประทานรอบ ๆ กองไฟเป็นที่สนุกสนาน
สาระสำคัญของประเพณี พิธีสารทเดือนสาม เป็นพิธีที่ชาวไทยเชื้อสายมอญเชื่อว่า การทำทานฟืนร่วมกับข้าวหลามและดอกทอง (ดอกไม้ชนิดหนึ่ง) ในวันเพ็ญเดือนสามนั้น นอกจากเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้วยังอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษด้วย