สมุนไพรและสรรพคุณ
1. ขมิ้นชัน
Turmeric
Curcuma longa (Linn.)
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น
รูปลักษณะ ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่ มีแขนงรูปทรงกระบอก แตกออกด้านข้าง 2 ด้านตรงข้ามกัน เนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้า เรียงเป็นวงซ้อนทับกัน รูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอกช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผลรูปกลม มี 3 พู
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้า - ใช้รักษาโรคผิวหนังผื่นคัน โดยทำเป็นผงผสมน้ำ หรือเหง้าสด ฝนน้ำทา มีรายงานว่าพบน้ำมันหอมระเหยและสาร curcumin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองได้ดี นอกจากนี้ ยังใช้เหง้ารักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ และแผลในกระเพาะอาหาร โดยใช้ผงขมิ้นชัน ขนาด 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
|
2. ข่อย
Siamese Rough Bush, Tooth Brush Tree
Streblus aspera Lour.
MORACEAE
ชื่ออื่น กักไม้ฝอย ส้มพอ
รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น มีน้ำยางขาว สูง 5-15 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปวงรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. ผิวใบสากคาย ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกตัวผู้เป็นช่อกลม ช่อดอกตัวเมียออกเป็นกระจุกมี 2-4 ดอกย่อย กลีบดอกสีเหลือง ผลสด รูปไข่ เมื่อสุกสีเหลือง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ปลือกต้น - แก้โรคผิวหนัง รักษาแผล หุงเป็นน้ำมันทารักษาริดสีดวงทวาร รักษารำมะนาด แก้ท้องร่วง
เมล็ด ผสมกับหัวแห้วหมู เปลือกทิ้งถ่อน เปลือกตะโกนา ผลพริกไทยแห้งและเถาบอระเพ็ด ดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่ม เป็นยาอายุวัฒนะ
|
3. ข่า
Alpinia nigra (Gaertn.) B. L. Burtt
ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น ข่าหยวก ข่าหลวง
รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอกช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผลแห้ง แตกได้ รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เหง้าสด ตำผสมกับเหล้าโรง ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน สารที่ออกฤทธิ์คือน้ำมันหอมระเหย และ 1'-acetoxychavicol acetate
เหง้าอ่อน - ต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม ข่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และไม่เป็นพิษ
|
4. บัวบก Asiatic Pennywort, Tiger Herbal
Centella asiatica (Linn.) Urban
APIACEAE
ชื่ออื่น ผักแว่น ผักหนอก
รูปลักษณะ ไม้ล้มลุก อายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะ แตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อ ชูขึ้น 3-5 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไต เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผลแห้ง แตกได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ใบสด - ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ แผลจะสนิทและเกิดแผลเป็นชนิดนูน (keloid) น้อยลง สารที่ออกฤทธิ์คือ กรด madecassic, กรด asiatic และ asiaticoside ซึ่งช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ มีรายงานการค้นพบฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา อันเป็นสาเหตุของโรคกลาก ปัจจุบัน มีการพัฒนายาเตรียมชนิดครีม ให้ทารักษาแผลอักเสบจากการผ่าตัด น้ำต้มใบสดดื่มลดไข้ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย
ที่มาภาพ 1. http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQmDQSQcJePkBY5m_-JS5pkf9KQm-zv
4lWa8sRaWr-Vxskgryhr
2. http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRoPn2JwdeU_SPe17K9ZAxau2ZCi_0LrX
lmGxolztNDyPbu3-bUsA
3. http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTexSEL153gC0PCjvdEWJ8GsZOLaQ
1KzE1BDJFCSJjdjFVF45hV
4. http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQtZRKZjbcPENJE8iUJ6KTcy1TZqt3eYS
3h6vtKftL9AjzDn9Mn
|