Ran khaa ya
 
 
หน้าแรก
ข้อมูลของฉัน
ข้อมูลการศึกษา
สาระความรู้
 

สาระความรู้

ข้าพเจ้า นางสาววชิราภณ์ วัฒนะศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/5 ปีการศึกษา 2554

             โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม มีความสนใจสาระความรู้ เกี่ยวกับเรื่อง ประวัติดนตรีไทยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411) เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้ทำอะไรมากมายเกี่ยวกับดนตรีไทย เช่น ได้ให้ขุนนางเผยแพร่ดนตรี ประเภทวงปี่พาทย์สามชั้น มาประชันกัน

ซึ่งมีเนื้อสาระ ดังนี้
             ดนตรีไทย ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชนชาติไทยมาตั้งแต่โบราณ
ซึ่งดนตรีไทยได้มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะขอแบ่งยุคของดนตรีไทย เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษา ดังนี้
             1. สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
             2. สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
             3. สมัยกรุงศรีอยุธยา
             4. สมัยกรุงรัตน์โกสินทร์

สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

              จากประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเดิมที่ได้อพยพมาจากแถบภูเขาอัลไต และอพยพเรื่อยมาจนถึงแหลมทองในปัจจุบัน และได้ปรากฏหลักฐานเป็นจดหมายของอาจารย์ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งอาจารย์มนตรี ตราโมท กล่าวว่า
             ( สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 3 อ้างใน มนตรี ตราโมท. 2507 : ไม่ปรากฏหน้า) ดังนี้ “ จดหมายของอาจารย์ผู้หนึ่ง ในโรงเรียนที่เซียงไฮ้ ซึ่งมีมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยเรา ลงในวันที่ 11 ตุลาคม 2484 กล่าวว่า เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าตำนานดึกดำบรรพ์ของชาติไทยในดินแดนจีน ได้หลักฐานไว้หลายอย่าง มีความในหนังสือฉบับนี้กล่าวว่า
              คนไทยมีอุปนิสัยทางศิลปะทางดนตรีมาแต่ดึกดำบรรพ์”
จากข้อความในจดหมายที่ยกมา แสดงให้เห็นว่า ดนตรีไทยมีมาควบคู่กับคนไทย มาตั้งแต่โบราณก่อนการอพยพลงมาสู่แหลมทองในปัจจุบัน และยังมีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับดนตรีไทย ซึ่ง อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นมาเกี่ยวกับดนตรีไทยและเพลงไทยอีกว่า (มนตรี ตราโมท. 2507 : ไม่ปรากฎหน้า)
              “ ในตอนกลางลุ่มแม่น้ำแยงซี เป็นที่ตั้งของอาณาจักรฌ้อ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ โดยมากกล่าวรับรองว่า ฌ้อในสมัยนั้นคือชนชาติไทย พระเจ้าฌ้อปาออง ซึ่งครองราชอยู่ระหว่าง พ.ศ. 310 ถึง 343 ว่าเป็นกษัตริย์ไทย ในสมัยนั้นจีนได้เครื่องดนตรีไปจากชนชาติในดินแดนตอนใต้หลายอย่าง ที่ปรากฏชัดคือ กลองชนิดหนึ่งซึ่งจีนใช้อยู่จนทุกวันนี้เรียกว่า “ น่านตังกู ” อันหมายถึง กลองชาวใต้ ลักษณะเป็นกลองขึงหนังตรึงด้วยหมุดทั้งสองหน้าอย่าง “ กลองทัด ” ของไทยเราไม่ผิดเพี้ยนเลย และรูปร่างก็แตกต่างจากกลองชนิดอื่นๆ ของจีน
              ซึ่งเข้าใจว่าอาจได้ไปจากกลองของชนชาติไทย ในสมัยครั้งกระโน้นก็เป็นได้” หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึง
“เครื่องดนตรีไทย” และเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ ของไทยก็คือ “แคน” โดยมีหลักฐานยืนยัน ซึ่งมีบันทึกของจีนได้บันทึกไว้ว่า ( สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 5)“ ที่เมือง CHANGSHA แคว้นยูนาน เป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง เขาได้พบศพ 2 ศพ ที่เกรียวกราวมาก คือ เป็นศพที่มีอายุตั้ง 2,000 ปี แล้วร่างกายอยู่อย่างเก่าเอาอะไรกดเข้าไปก็ไม่เป็นอะไร แล้วเครื่องแต่งกายก็วิจิตรพิศดารมาก รัฐบาลของเขาให้ชื่อศพนี้ว่า “ The Duke of Tai and his Consart “
              ในข้าง ๆ ศพ ปรากฏสิ่งของอยู่ 2 อย่างคือ เครื่องใช้ประจำวันเป็นเครื่องเขิน เครื่องเขินที่คล้าย ๆ กับเชียงใหม่เรานี้ แล้วก็เป็นจำนวนนับร้อย แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ตรงกับของเราที่เรียกว่า แคน ในเรื่องที่เกี่ยวกับแคนนี้ สุมาลี นิมมานุภาพ ยังเล่าเพิ่มเติมพอสรุปได้ว่า
              จากบันทึกของจีนที่บันทึกว่าจีนมีแคนใช้ประมาณ 3,000 ปี แต่จีนมีแคนใช้หลังไทย เพราะฉะนั้นแคนไทยต้องมีอายุมากกว่า 3,000 ปี ที่กล่าวว่าจีนมีแคนใช้หลังไทยเพราะถ้าใช้หลังการเปรียบเทียบจะเห็นว่าแคนของจีนสวยงามประณีต กระทัดรัดกว่าของไทย เพราะจีนได้แบบอย่างและรูปแบบไปจากแคนไทย ซึ่งมีรูปร่างยาว ใช้วัสดุที่ไม่ทนทานเท่าแคนของจีน ซึ่งเมื่อจีนเห็นข้อบกพร่องของแคนไทยแล้วจึงนำไปปรับปรุงให้กระทัดรัดและสวยงามจากแคนของไทย ได้พัฒนาเป็นเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ขลุ่ย และปี่ซอ เพราะขลุ่ยทำง่ายกว่าแคน เพียงแต่เจาะรูที่ไม้ไผ่ก็เป่าได้แล้ว อย่างเช่น ขลุ่ยผิวของจีน ส่วนปี่ซอก็คือลูกของแคนนั้นเองใช้ลิ้นโลหะประกอบกับไม้ไผ่เข้าแล้วเจาะรูเพื่อบังคับเสียง อย่างเช่น
             ปี่ซอของทางภาคเหนือในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาจึงใช้ไม้ทำเครื่องบังคับลมเรียกว่า “ดาก” เข้าไปในตัวของไม้ไผ่แล้วเจาะลิ้น (ปากนกแก้ว) ทำให้เกิดเสียง เช่น ขลุ่ยชนิดต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 6 อ้างใน จารุวรรณ ไวยเจตน์. 2529 : 213)
สรุปได้ว่า ดนตรีไทย มีประวัติความเป็นมาควบคู่กับชนชาติไทย ก่อนที่จะอพยพมาสู่ถิ่นแหลมทองในปัจจุบัน เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ค้นพบคือ กลองและแคน ต่อมาได้พัฒนาจากแคนเป็นปี่ซอและขลุ่ย ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า เพราะทำได้ง่าย เพียงแต่เจาะรูแล้วทำเครื่องบังคับลมก็สามารถเป่าเป็นเสียงดนตรีได้แล้ว
คลิกที่รูปเพื่อขยาย

สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธาน
             การดนตรีในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนับเป็นสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะว่า เรื่องราวชนชาติไทยปรากฏหลักฐานเด่นชัดขึ้นในสมัยสุโขทัย เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยและจารึกเรื่องราวต่างๆ ลงในศิลา และจากศิลาจารึกสมัยสุโขทัยนี้ ทำให้ทราบประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างดี ( เฉลิม พงศ์อาจารย์. 2529 : 90)
             เพราะในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกเป็นคำสั้นๆ ว่า “ เสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ( สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540: 9 อ้างใน ณรงค์ชัย ปิฎกรัชน์. 2528 : 17) ทำให้เราทราบถึงดนตรีไทยในสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดีมีความกว้างขวางมากมาย เสียงพาทย์ หมายถึง การบรรเลงวงปี่พาทย์ เสียงพิณ หมายถึง วงเครื่องสาย เป็นต้น
             ทวีสิทธิ์ ไทยวิจิตร ได้กล่าวถึงเครื่องดนตรีไทยในสมัยสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่า เครื่องดนตรีไทย มีกลองสองหน้า แตรงอน (คล้ายเขาสัตว์ทำด้วยโลหะ ) แตรสังข์ (ทำจากหอยสังข์) ตะโพน ฆ้อง กลองทัด ฉิ่ง บัณเฑาะ กรับ กังสดาล มโหระทึก ซอสามสาย ระนาด ปี่ไฉน (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 9)สรุปได้ว่า เครื่องดนตรีไทยในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น เครื่องดนตรีมีครบทั้ง 4 ประเภท อย่างเช่นสมัยปัจจุบัน คือ
เครื่องดีด ได้แก่ พิณ เป็นต้น เครื่องเป่า ได้แก่ ปี่ ขลุ่ย เป็นต้น
เครื่องตี ได้แก่ ระนาด ฆ้อง กลอง เป็นต้นเครื่องสี ได้แก่ ซอ เป็นต้น

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
             การดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนับได้ว่า มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนนิยมเล่นดนตรีกันมาก ซึ่งเครื่องดนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ได้รับมาจากกรุงสุโขทัย แต่ก็ได้มีการปรับปรุงรูปร่าง ตลอดจนการประสมวงดนตรี และได้มีการพัฒนา คิดค้นเรื่องดนตรีเพิ่มเติม เช่น จะเข้ เป็นต้น
             ด้วยความเจริญรุ่งเรืองในการดนตรีไทย มีประชาชนนิยมเล่นดนตรีไทยกันอย่างกว้างขวางจะเล่นดนตรีกันจนเกินขอบเขต จนต้องออกกฏมณเฑียรบาล ในรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนารถ ( พ.ศ.1991 - 2031 ) ว่า “…ห้ามขับร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏเครื่องดนตรีครบทุกประเภท ดังนี้
เครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี่ จะเข้ พิณเพี้ยะ พิณน้ำเต้า
เครื่องสี ได้แก่ ซอสามสาย ซออู้ ซอด้วง
เครื่องตีไม้ ได้แก่ กรับพวง กรับคู่ กรับเสภา ระนาดเอก
เครื่องตีโลหะ ได้แก่ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องคู่ ฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฉิ่งฉาบ มโหระทึก
เครื่องตีหนัง ได้แก่ ตะโพน (ทับ) โทน รำมะนา กลองทัด กลองตุ๊ก
เครื่องเป่า ได้แก่ ปี่ใน ปี่กลาง (คงมีพวกปี่มอญและปี่ชวาด้วย) ขลุ่ยแตรงอน
              สรุปได้ว่า การดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี และ มีการคิดค้นเครื่องดนตรีเพิ่มเติม ประชาชนนิยมเล่นดนตรีไทย กันอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในเขตพระราชฐาน จนต้องมีการออกกฎมณเฑียรบาลเกี่ยวกับการห้ามเล่นดนตรีไทยในเขตพระราชฐาน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
             ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูการดนตรีไทยให้เจริญรุ่งเรือง โดยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ให้สมบูรณ์ และดาหลัง ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีมาแต่สมัยอยุธยา วรรณคดีทั้ง 2 เรื่องนี้ ใช้นำแสดงละคร และแสดงโขน (เฉลิม พงษ์อาจารย์. 2529 : 293)
              ต่อมาในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดนตรีไทยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วย พระองค์ทรงส่งเสริมด้านวรรณคดีและการละคร ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องอิเหนา และรามเกียรติ์ ขึ้นอีกสำนวนหนึ่งเพื่อให้เหมาะสมแก่การละคร ให้มากยิ่งขึ้น จนวรรณคดีเรื่องอิเหนาได้รับการยกย่องว่า เป็นกลอนบทละครที่ดีที่สุด
             ส่วนด้านดนตรีก็เฟื่องฟูเช่นเดียวกัน จนปรากฏในพระราชประวัติพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่าทรงซอสามสายได้เป็นเลิศ มีซอคู่พระหัตถ์เรียกว่า “ซอสายฟ้าฟาด” (ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. 2515 : 90)
             ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงโปรดดนตรีมากนัก แต่ก็มิได้ห้ามไม่ให้เล่นดนตรีไทย ยังคงทำให้เจ้านายในวังได้มีการแสดงการดนตรี และการละครภายในวังของตน จึงทำให้เจ้านายเหล่านี้มีส่วนในการอุปถัมภ์ ส่งเสริมในการละคร และการดนตรีเจริญรุ่งเรืองสืบมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475
และในรัชสมัยนี้ ได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มขึ้นเพื่อใช้คู่กับระนาดเอก
               ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนนิยมเล่นแอ่วลาวเป่าแคนกันมาก จนเป็นเหตุให้การดนตรีไทยมีผู้เล่นน้อยลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงพระราชบัญญัติห้ามเล่นแอ่วลาว เมื่อปี 2408 ด้วย เพราะทรงรังเกียจว่า ไม่ใช้ของไทยแท้เป็นของประเทศราช จะนำมาใช้เป็นของไทยนั้นหากใครเล่นจะเก็บภาษีให้แรง ประชาชนจึงคลายการเล่นแอ่วลาวลง พระราชบัญญัติข้อนี้ แม้จะมีลักษณะเป็นชาตินิยมมากก็จริง แต่ถ้ามองในแง่ของการสงวนไว้ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยแท้แล้ว ก็นับได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในสมบัติของชาติ และทรงพยายามที่จะส่งเสริมดนตรีไทยอย่างแท้จริง ( พูนพิศ อมาตยกุล. 2524 : 23)
             การดนตรี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขยายแยกออกไปอีกมากมาย อาทิ เกิดการแสดงละครขึ้นอีกหลากหลายรูปแบบ การบรรเลงแตรวง ได้มีการปรับปรุงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
             ในสมัยนี้ ได้มีการพัฒนาเครื่องดนตรีไทยเพิ่มเติม ได้แก่ กลองตะโพน (ความจริงคือกลองตะโพนเดิมนั่นเอง) แต่วิธีการตีกลองผิดไปจากเดิมคือ ใช้ตีแบบกลองทัด(ตีหน้าเดียว) โดยใช้ ไม้นวม ตีเพื่อให้เกิดเสียงทุ้มกังวาน และ ยังเกิดวงปี่พาทย์ไม้นวมเรียกว่า “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” ใช้กับละครแบบใหม่ ซึ่งดัดแปลงมาจากโอเปร่า ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้ฟังไพเราะมาก(ชิ้น ศิลปบรรเลง;2515:21)
              ในสมัยรัชกาลที่ 5 การดนตรีไทยได้พัฒนารูปแบบเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ที่สำคัญคือ การประชันฝีมือดนตรีทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือของนักดนตรี และเกิดการผสมวงขึ้น โดยการนำเครื่องดนตรีต่างๆ มารวมเพิ่มขึ้นในวงให้มากและเป็นการรวมนักดนตรีที่มีฝีมือเข้าด้วยกัน
จึงทำให้เพียบพร้อมไปด้วยนักดนตรีฝีมือและมีเครื่องดนตรีหลากหลายประเภท ทำให้การบรรเลงมีเสียงที่ไพเราะยิ่ง
              ในสมัยรัชกาลที่ 6 การดนตรีได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากมาย เพราะมีการค้าขายติดต่อกับชาวต่างชาติมาก ซึ่ง อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้กล่าวว่า“เป็นรัชสมัยที่มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายรับราชการ และปฏิบัติธุรกิจมากมาย เจ้านายและขุนนาง ข้าราชการ ศึกษามาจากยุโรปเป็นอันมาก ศิลปะการแสดงต่างๆ จึงได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก แปรเปลี่ยน และเกิดขึ้นหลายอย่าง ละครก็มีละครพูด ละครสังคีต ละครร้อง
             การดนตรีมีวงโยธวาธิต แตรวง เพิ่มขึ้น จนถึงวงของเอกชน ในราชการมีวงเครื่องสายฝรั่ง ของกรมมหรสพ และของกรมทหารม้าล้วนเป็นวงปี่ที่มีคุณภาพการบรรเลงเป็นอย่างดี ทางวงดนตรีไทยก็เจริญทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งวงปี่พาทย์ วงเครื่องสายและมโหรี”(มนตรี ตราโมท. 2527 : 36)ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายท่าน ซึ่งนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงตั้งราชทินนามของนักดนตรี ไว้เป็นคำกลอนสัมผัส

ดังนี้     พระเพลงไพเราะ                หลวงเพราะสำเนียง       หลวงเสียงเสนาะกรรณ   
             พระสรรพ์เพลงสรวง         หลวงพวงสำเนียงร้อย    หลวงสร้อยสำเนียงสนธิ์   
             หลวงวิมลวังเวง                 หลวงบรรเลงเลิศเลอ      ขุนบำเรอจิตรจรง
             หลวงบำรุงจิตรเจริญ          ขุนเจริญดนตรีการ         พระยาประสานดุริยศัพท์
              หลวงศรีวาฑิต                  หลวงสิทธิวาทิน            พระพิณบรรเลงราช
             พระพาทย์บรรเลงรมย์       หลวงประสมสังคีต        พระประณีตวรศัพท์
             พระประดับดุริยกิจ            ขุนสนิทบรรเลงการ        หมื่นประโคมเพลงประสาน
             หลวงชาญเชิงระนาด         ขุนฉลาดฆ้องวง             ขุนบรรจงทุ้มเลิศ
             หมื่นประเจิดปี่เสนาะ          หลวงไพเราะเสียงซอ     ขุนคลอขลุ่ยคล่อง
         
หลวงว่องจะเข้รับ              หมื่นคนธรรพ์ประสิทธิประสาร  หมื่นขับคำหวาน
             หมื่นตันติการ เจนจิตร        หลวงประดิษฐ์ไพเราะ    พระยาเสนาะดุริยางค์
             พระสำอางค์ดนตรี            
                                                                              ขุนสำเนียงชั้นเชิง (จารุวรรณ ไวยเจตน์;2529:235-236)

             จะเห็นได้ว่า ในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีนักดนตรีที่พระองค์ ได้ทรงโปรดพระราชทานราชทินนาม บรรดาศักดิ์ และชื่อเสียงเกียรตินิยมแก่นักดนตรีหลายท่านอย่างเอาใจใส่ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในด้านดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่งและพระองค์
มีพระปรีชาสามารถในด้านการดนตรีเช่นกัน จึงเป็นระยะเวลาที่นักดนตรีของพระองค์มีความผาสุกอย่างยิ่ง ด้วยพระองค์ทรงเอาใจใส่เป็นอย่างดี
                   ในสมัยรัชกาลที่ 7 นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในช่วงปลายสมัยของพระองค์และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามกำลังใจของนักดนตรีก็มีอยู่มาก เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาด้านดนตรีไทย จนมีความสามารถในด้านการเล่นดนตรีไทยและพระราชนิพนธ์เพลงไทยไว้ถึง 3 เพลง คือ ราตรีประดับดาว เขมรละออองค์เถาและโหมโรงคลื่นกระทบฝั่งสามชั้น (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 37)
             ในสมัยนี้มีนักดนตรีเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องอย่างสูงสุด คือ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ชาวสมุทรสงคราม ท่านได้แต่งเพลงไทยไว้มากมาย มีทั้งแต่งขึ้นใหม่ และทำแนวบรรเลงเปลี่ยนแปลงจากของเก่า (ที่เรียกว่าทางเปลี่ยน) เพลงที่
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เช่นกระต่ายชมเดือนเถา เขมรปากท่อเถา ขอมทอง ครวญหา จีนนำเสด็จ จีนลั่นถัน ชมแสงจันทร์ เขมรเลียบนคร พราหมณ์ดีดน้ำเต้า นกเขาขะแมร์ สาริกาเขมร  อะแซหวุ่นกี้ ขะแมร์กอฮอม ขะแมร์ซอ ขะแมร์ธม และโอ้ลาว เป็นต้น

คลิกที่รูปเพื่อขยาย

              นักดนตรีไทยอีกท่านหนึ่ง ที่แต่งเพลงไว้ในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นจำนวนไม่น้อย คือ นายมนตรี ตราโมท ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านมีความเชี่ยวชาญทั้งในการประพันธ์ บทเพลง บทร้อง และยังมีความสามารถในการแต่งเพลงประกอบการแสดง ระบำต่างๆ มีผลงานมากมายสุดจะพรรณนาได้ เพลงที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ขึ้นชื่อมากมีหลายเพลง
เช่น โสมส่องแสง เขมรปี่แก้วทางสักวา จะเข้หางยาวทางสักวา นางครวญเถา นกขมิ้นเถา พม่าเห่เถา และพระจันทร์ครึ่งซีกเถา เป็นต้น(พูนพิศอมาตยกุล;2524:20)
              การดนตรีไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เป็นสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครอง
              ในระบอบประชาธิปไตย สมัยนี้ “เป็นระยะที่ดนตรีไทยเข้าสู่สภาวะมืดมน เพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมดนตรีไทย และยังพยายามให้คนไทยหันไปเล่นดนตรีสากลแบบตะวันตก” (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540: 40 อ้างใน พูนพิศ อมาตยกุล. 2524 : 21)
              ต่อมาก็เกิดรัฐนิยมขึ้น “ การที่มีรัฐนิยมเกิดขึ้น กล่าวคือ ห้ามการบรรเลงดนตรีไทย” (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 40
อ้างใน พระยาภูมี เสวิน. 2516 : 137) ด้วยเห็นว่าดนตรีไทยไม่เหมาะสมกับชาติที่กำลังพัฒนาให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ จึงมีการห้ามโดยเคร่งครัด แต่ยังอนุญาตให้บรรเลงในงานพิธีหรือในบางประเพณี แต่จะต้องไปขออนุญาตที่กรมศิลปากรหรืออำเภอก่อนและต้องมีบัตรนักดนตรี ที่ทางราชการออกให้ จึงทำให้นักดนตรีหัวใจห่อใจเหี่ยวไปตาม ๆ กัน บางคนถึงกับขายเครื่องดนตรีอันวิจิตรงดงาม เพราะถึงเก็บไว้ก็เปล่าประโยชน์ เครื่องดนตรีอันงดงามวิจิตร หลายชิ้นที่ถูกขายไปในรูปแบบของเก่า หรือขายต่อให้ต่างประเทศไปอย่างน่าเสียดาย

              แต่ก็ยังมีนักดนตรีอีกไม่น้อยที่ไม่ยอมทิ้งดนตรีไทย เช่น หลวงประดิษฐ์ ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ยังคงแต่งเพลงต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เพลงเอกของท่านที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 8 เช่น แสนคำนึงเถา กราวรำเถา แขกเงาะ และแขกชุมพล เป็นต้น และอาจารย์มนตรี ตราโมท ก็หันมาประดิษฐ์เพลงระบำมากขึ้น ซึ่งเพลงไทยในระยะนี้ อรวรรณ บรรจงศิลป์ (อ้างใน สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 41) กล่าวว่า
              “ระยะนี้มีผู้นำทำนองเพลงไทยมาใส่เนื้อร้องเต็มตามทำนองบ้าง แต่งขึ้นเองบ้าง เพื่อประกอบละครพูด ละครประวัติศาสตร์ และภาพยนตร์ ผู้แต่งมีหลายท่าน เช่น พรานบูรณ์ หลวงวิจิตรวาทการ ล้วน ควันธรรม ฯลฯ สำหรับหลวงวิจิตรวาทการร่วมกับอาจารย์มนตรี ตราโมทแต่งเพลงประกอบบทละครประวัติศาสตร์หลายเพลง เช่น เพลงเพื่อนไทย ใต้ร่มธงไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ฯลฯ
              เพลงเหล่านี้ มีลักษณะเป็นแบบตามใจผู้แต่ง จะเป็นเพลงไทยก็ไม่ใช่ เพลงฝรั่งก็ไม่ใช่ การแต่งเพลงของหลวงวิจิตรวาทการแต่งโดย ใช้จินตนาการของตนเองบ้าง บางเพลงก็นำทำนองของฝรั่งมาใส่เนื้อไทยบ้าง เช่น ภาพเธอ นักแต่งเพลงอื่น เช่น พรานบูรณ์ มีจุดมุ่งหมายของการแต่งเพลงเพื่อนำไปประกอบภาพยนต์ ละคร เพลงที่แต่งจึงพยายามให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง เป็นสำคัญ เช่น เพลงดูซิดูโน่นซิ เพลงร้อนแดด ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า เพลงในระยะนี้เป็นเพลง ที่ยังไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทฤษฎีตะวันตกอย่างแท้จริงถึงอย่างไรก็ตาม
              ดนตรีไทยสมัยนี้ก็มิได้ซบเซาถึงขนาดจะขาดตอน เหมือนเมื่อครั้งเราเสียกรุงศรีอยุธยา แม้จะซบเซาลงบ้างและเกิดเพลงไทยสากลขึ้น เพลงไทยสากลที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ก็ยังเอาเค้าของเดิมหรือเอาเพลงไทยของเดิมมาร้องเล่น เพียงแต่เปลี่ยนจังหวะให้กระชับขึ้นเป็นแบบฝรั่ง ของไทยแท้จึงไม่ถึงกับสูญและโชคดีที่ยุดนี้สั้นมาก มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกันบ่อยในที่สุด ดนตรีไทยแท้ก็กลับคืนมาอีกครั้ง (อรวรรณ บรรจงศิลป์ และ โกวิทย์ ขันธศิริ. 2526 : 18)
              การดนตรีไทยในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปลายรัชกาลที่ 8 พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้น ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอนุชา ได้ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงไทยสากลและเพลงสากลขึ้นเพลงแรก คือ เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน และต่อมาก็ทรงพระราชนิพนธ์เพลงสายฝน และอีกมากมาย เช่น เพลงชะตาชีวิต เพลงใกล้รุ่ง เพลงคำหวาน เพลงดวงใจกับความรัก เพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้ผิดแผกแตกต่างไปจากเพลงที่นำประพันธ์เพลงไทยสากลยุคนั้น ได้ประพันธ์ขึ้นเป็นเพลงที่บรรเลงยาก
ร้องยากที่สุด เพราะใช้โน้ตครึ่งเสียงและกุญแจเสียงไม่เจนกับหูคนไทยในยุคนั้น กล่าวได้ว่าเพลงพระราชนิพนธ์ยุคแรกเริ่มขึ้น ทรงได้ล้ำหน้าความสามารถของนักประพันธ์เพลงไทยเป็นอย่างมาก

คลิกเพื่อขยาย

              เข้ามาตรฐานเพลงที่นิยมสูงสุดในทวีปยุโรปและอเมริกาจนฝรั่งกล่าวสรรเสริญ
ในพระปรีชาสามารถ (พูนพิศ อมาตยกุล. 2529 : 19)
              ในสมัยนี้ ได้มีผู้แต่งเพลงไทยสากลหลายท่าน สำหรับนักแต่งเพลงไทยสากลที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
              เพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้แสดงถึงความงดงาม ความละเอียดประณีต มีรสนิยมเป็นแบบเฉพาะพระองค์ ซึ่งเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งอันหาได้ไม่ง่ายนัก ดังที่
อาจารย์มนตรี ตราโมทย์ ให้สัมภาษณ์ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ (เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. 2530 : 28)
              ดังนี้ในด้านดนตรีไทยและนาฎศิลป์นี้ ดูเหมือนว่าพระองค์ท่านจะทรงสนพระทัยพอ ๆ กัน แต่ถ้าทางด้านดนตรีสากลแล้วทรงพระปรีชาสามารถมากทีเดียว ลักษณะนี้ถ้าหากเป็นสามัญชน คนธรรมดาก็เรียกว่า มีพรสวรรค์
             เป็นบุคคลประเภทที่เรียกว่าเรียนน้อยแต่รู้มากได้จะมีอยู่เฉพาะรายบุคคลเท่านั้นนับได้ว่าเป็นบุญของศิลปินไทยและประเทศชาติที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยในศิลปะการดนตรีเช่นนี้การดนตรีไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ได้ขยายวงกว้างเข้าไปอยู่ในสถานศึกษา เห็นได้จากสถาบันการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาได้ส่งเสริมให้
              นักเรียนและเยาวชนเล่นดนตรีไทยและขับร้องเพลงไทย โดยบรรจุวิชาดนตรีไว้ในหลักสูตรทุกระดับทั้งนี้ ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แผ่ปกคลุมเป็นร่มเกล้าแก่นักดนตรีไทย และเพลงไทยอย่างใหญ่หลวง ด้วยพระองค์ทรงโปรดเพลงไทยและดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งพระองค์ได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “เหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบดนตรีไทย ?” โดยทรงขึ้นต้นว่า “ดนตรีไทยดูเหมือนจะพัวพันกับชีวิตประจำวันของข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมา พอเกิดมาเขาก็ประโคม เวลาสมโภชน์เขาก็ประโคม (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2531 : 47 อ้างใน ทองต่อ กล้าวไม้ ณ อยุธยา. 13)
              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอุปถัมภ์และทรงทะนุบำรุงดนตรีอยู่ตลอดมา ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานการแสดงดนตรีไทยของครูอาวุโส และบรรดาวงดนตรีของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมและอุดมศึกษาหลายครั้ง ได้ทรงร่วมการบรรเลงดนตรีด้วย ยังความโสมนัสยินดีแก่ผู้ร่วมและผู้มีโอกาสได้ เฝ้าทูลละอองพระบาทเป็นที่ยิ่ง (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 48 อ้างใน ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา. 2541 : 14)
              สรุปได้ว่า การดนตรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงโปรดการดนตรีทุกประเภท จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญจากชาวโลก ทั้งในและต่างประเทศอย่างท่วมท้น พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้อีกมากมาย อีกทั้งสมเด็จพระเพทรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้ทรงโปรดปรานดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทรงบรรเลงดนตรีไทยได้ทุกชนิด ทรงใฝ่พระราชหฤทัยอย่างจริงจัง ดังที่ เสรี หวังในธรรม กล่าวว่า “ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่”

              สรุป : ดนตรีไทย มีประวัติความเป็นมาควบคู่กับชนชาติไทย ก่อนที่จะอพยพมาสู่ถิ่นแหลมทองในปัจจุบัน เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ค้นพบคือ กลองและแคน ต่อมาได้พัฒนาจากแคนเป็นปี่ซอและขลุ่ย ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า เพราะทำได้ง่าย เพียงแต่เจาะรูแล้วทำเครื่องบังคับลมก็สามารถเป่าเป็นเสียงดนตรีได้แล้ว

ที่มา : http://www.sadetmusic.com

 

เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800 x 600 Text Size Medium
วิชา การออกแบบเว็บไซต์เบื้องต้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2554
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน