เป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ มีมาตั้งแต่อดีต เริ่มโดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ จะเป็นฝีพาย จัดแข่งขันในช่วงน้ำหลาก หลังออกพรรษาเดือน ๑๑ คือ ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี จะแข่งเรือกันในวันไหว้พระประจำปีของวัดจอมคีรีนาคพรต วัดเกาะหงษ์ วัดตะเคียนเลื่อน การแข่งเรือนอกจากจะได้รับความสนุกสนานแล้ว ยังทำให้เกิดความรับผิดชอบ รักใคร่กลมเกลียว สามัคคีกันระหว่างชุมชน หรือถิ่นอื่นๆ ด้วย
ความสำคัญของประเพณีแข่งเรือคือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสงานแข่งเรือ ซึ่งเป็นงานประจำปีปิดทองไหว้พระของเขาบวชนาค (วัดจอมคีรีนาคพรต) ช่วงเดือน ๑๑ โดยขบวนเสด็จประพาสต้นขาล่อง ในพระราชหัตเลขาทรงกล่าวว่า "...จอดที่หน้าวัดเขา ซึ่งราษฎรมาประชุมกันอยู่ที่นั้น น้ำท่วมสะพานหมดไม่มีที่ยืนต้องจอดเรืออยู่ แต่ราษฎรแข่งเรือกันสนุกสนานมาก การแข่งเรือที่นี้ มาแต่เช้าแข่งเรือกันทอดหนึ่งแล้วขึ้นไหว้พระ ทักษิณแล้วกลับลงมาแข่งเรืออีกทอดหนึ่ง..."
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง จึงสรุปได้ว่าประเพณีการแข่งเรือจังหวัดนครสวรรค์ นั้นมีความสำคัญยิ่งประเพณีหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่สืบไป
|
ปัจจุบันการแข่งเรือได้พัฒนา คือมีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สนามแข่งเรือริมน้ำหน้าศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้มีเรือสมัครเข้าทำการแข่งขันเป็นจำนวนมาก มาจากหลายจังหวัด
ในปี ๒๕๔๘ จังหวัดกำหนดให้มีการแข่งขันเรือตะเข้ชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นมา ซึ่งเรือตะเข้นี้จะแข่งกันในเวลากลางคืน นับเป็นปีแรกที่มีการจัดแข่งเรือตะเข้ เพื่อชิงเงินรางวัลกันในสนามเดียวกันนี้ซึ่งเกิดความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น คนชมมากขึ้น
นอกจากนี้ในงานประเพณีแข่งเรือยังมีงานแสดงมหกรรมสินค้า และมีสวนสนุก ฯลฯ ให้เที่ยวชมกันอีกด้วยสร้างความสนุกเพลิดเพลิน และยิ่งใหญ่ของงาน ส่วนในวันตัดสินการแข่งขันเรือ จะทำการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์เป็นประจำทุกปี
|