Ran khaa ya
     
 
เทพอพอลโล (Apollo)



อพอลโล (Apollo) เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น

    ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ

 

    เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้

    อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย

    วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว

 

    เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี

    เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที

    ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้

 

 

    การลงโทษนางไนโอบี

 

    เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7

 

 

    นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น

    เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่าสัตว์ จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก

    มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็น ผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้

 

    นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้

    นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์

 

    อพอลโลถูกเนรเทศ

 

    เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ

    ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้

    ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius)

 

    บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง

    ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง

    ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต

    เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ

ที่มา::http://www.tumnandd.com/เทพอพอลโล-apollo/

   
       
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2554
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม
อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์

   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน