|
ครูอาคม สายาคม เดิมชื่อ บุญสม เกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2406 ณ บ้านสี่แยกหลานหลวง จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายเจือ ศรียาภัยและนางผาด ศรียาภัย สกุลเดิม อิศรางกูร ณ อยุธยา (นามสกุลสายาคมเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6)
ครูอาคมได้รับการฝึกหัดโขนพร้อมกับเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 จากนั้น เข้ารับตำแหน่ง พระ แผนกโขนหลวง กรมพิณพาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง
ต่อมา พ.ศ. 2478 โอนมาประจำโรงเรียนศิลปากร แผนกดุริยางค์ ดำรงตำแหน่งนักวิชาการละครและดนตรี 7 กองการสังคีต กรมศิลปากร เมื่อเกษียณอายุ กรมศิลปากรได้เชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ สอนนักศึกษาปริญญาตรี
ผลงานด้านการแสดง ครูอาคมแสดงเป็นตัวเอก เช่น พระราม อิเหนา พระร่วง พระอภัยมณี ขุนแผน พระไวย ไกรทอง ฮเนา (เรื่องเงาะป่า) พระลอ อุณรุท พระสังข์ เป็นต้น
ผลงานด้านประดิษฐ์ท่ารำ ได้แก่ เพลงหน้าพาทย์ตระนาฏราช เพลงหน้าพาทย์โปรยข้าวตอก เพลงเชิดจีน ลีลาประกอบท่าเชื่อม ตำราท่ารำ
ผลงานด้านวิชาการ เขียนคำอธิบายนาฏยศัพท์ บทความ เพลงพื้นเมือง เพลงหน้าพาทย์ ความสำคัญของหัวโขน ระบำ รำ เต้น การเลือกเด็กเข้าฝึกหัดละครสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้น
ผลงานด้านวิทยุกระจายเสียง ตั้งคณะสายเมธี แสดงนิยายและบรรเลงในแบบดนตรีสากลและดนตรีไทย ตั้งคณะสายาคมแสดงเพลงพื้นเมือง เป็นต้น
ผลงานด้านภาพยนตร์ แสดงเป็นพระเอกภาพยนตร์เรื่อง อมตาเทวี เรื่องไซอิ๋ว แสดงเป็นพระถังซำจั๋งและเป็นผู้กำกับการแสดง เป็นต้น
ผลงานด้านกำกับเวที กำกับการแสดงและการสอนโขนและละครเรื่องต่างๆ
พ.ศ. 2505 ได้รับมอบให้เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครู
พ.ศ. 2506 ได้รับถ่ายทอดท่ารำองค์พระพิราพจากครูรงภักดี
พ.ศ. 2507 ทำพิธีครอบโขนละครในพิธีไหว้ครูประจำปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ร่วมครอบในพิธีไหว้ครูดังกล่าวด้วย
พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ได้รับเชิญเป็นประธานไหว้ครูของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของราชการและเอกชน รวมทั้งท่านได้พยายามถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ของท่านให้แก่เยาวชนรุ่นหลังได้รับสืบทอดต่อไป ซึ่งนับว่าครูอาคมได้ปฏิบัติภารกิจด้านนาฏศิลป์ไทยอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ครูอาคม สายาคม ได้สมรสกับนางสาวเรณู วิเชียรน้อย มีบุตร 3 คน
ครูอาคม สายาคม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2525
ที่มา: digitalrarebook.com
|