Ran khaa ya
     
 

9 อดีต9ปัจจุบัน

     พระเถระผู้ดำรงตำแหน่งเป็นพระคณาธิการหรือพระสังฆาธิการซึ่งมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ และมีเกียรติคุณโดดเด่นในการบริหารปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดนครสวรรค์ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกก็ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งแต่ละท่านล้วนแต่ได้มรณภาพไปแล้วมีทั้งหมด๙ รูป ขอเรียกว่า ๙ อดีต คือ

   ๑. พระธรรมไตรโลกาจารย์
    พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด อกฺกวํโส ป.๖) วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี   อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพระเถระผู้วางรากฐานการศึกษาปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีที่วัดเขาแก้ว และนับเป็นต้นธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีสืบต่อมา
    พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นชาวอำเภอพยุหะคีรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๑ ปีที่วัดเขาแก้ว โดยหลวงพ่อเทศ  วัดเขาแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะมีอายุ ๑๔ ปี ได้ย้ายไปศึกษาที่วัดทุ่งแก้ว หรือ     วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี แล้วเดินทางไปอยู่จำพรรษา ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ ซึ่งในสมัยนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้กลับมาอุปสมบทที่วัดเขาแก้วโดยหลวงพ่อเทศ วัดเขาแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดคง และพระวินัยธรสิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับจากนั้นจึงกลับไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ
    พ.ศ.๒๔๕๐ ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค แต่ต้องหยุดเรียนเพราะสุขภาพไม่ค่อยดีจากนั้นจึงย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดทุ่งแก้ว จังหวัดอุทัยธานี แล้วย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี พร้อมทั้งได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีขึ้นที่วัดเขาแก้ว นับเป็นสำนักเรียนบาลีแห่งแรกในจังหวัดนครสวรรค์
    พระธรรมไตรโลกาจารย์เจริญรุ่งเรืองในสมณเพศมาโดยลำดับจนกระทั่งได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ท่านได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์สูงถึงพระราชาคณะชั้นธรรม คือ
    พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นพระญาณกิตติ
    พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นพระราชสุธี
    พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นพระเทพโมลี
    พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์
   
  ๒. พระเทพสิทธินายก
    พระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ น.ธ.เอก, ป.ธ.๖) วัดนครสวรรค์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และอดีตเจ้าคณะตรวจการภาค ๖ ท่าน เป็นชาวอำเภอหนองบัว และเป็นสัทธิวิหาริกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่มีศีลาจารวัตรงดงามจนไม่มีช่องทางใดที่ใครจะตำหนิได้ และมีความรู้ความสามารถในการสอนและบริหารการศึกษา ชนิดยากที่จะหาพระเถระรูปใดเทียบเท่าได้ตราบเท่าปัจจุบัน ทำให้มหาธาตุวิทยาลัยมีเกียรติคุณแผ่ขจรไกลไปทั่วประเทศ ไม่ต่างอะไรกับสำนักตักกสิลาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในอินเดียสมัยโบราณ

     ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในพื้นที่ใด ท่านก็จะนำพระภิกษุสามเณรในพื้นที่นั้นไปอยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุเพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียน   พระปริยัติธรรม เมื่อเห็นว่ามีความรู้ความสามารถพอสมควรแล้ว ท่านก็จะส่งกลับไปช่วยงานพระศาสนาในพื้นที่นั้น ๆ จนกระทั่งศิษย์วัดมหาธาตุมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมณเพศและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเกือบทั่วประเทศ

    พระเทพสิทธินายกเคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมบาลี และเป็นสัทธิวิการิกอีกรูปหนึ่งของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ  ที่เจริญรุ่งเรืองในพระศาสนา และดำรงตำแหน่งสำคัญทางการปกครองคณะสงฆ์หลายระดับ ท่านได้วางรากฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมและบาลีที่วัดนครสวรรค์ให้เจริญรุ่งเรืองและส่งเสริมให้ศิษย์ไปอยู่จำพรรษา ณ วัดสำคัญ ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดเบญจมบพิตร วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดสังเวชวิศยาราม เป็นต้น เพื่อจะได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีให้สูงยิ่งขึ้น

    ปัจจุบันนี้ศิษย์ของพระเทพสิทธินายก ทั้งที่เป็นอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริก ยังดำรงสมณเพศและดำรงตำแหน่งบริหารปกครองคณะสงฆ์อยู่หลายรูป เช่น พระเทพญาณมุนี วัดวรนาถบรรพต พระราชพรหมาจารย์วัดคีรีวงศ์ และพระครูนิโครธ-ธรรมาวุฒิ วัดไทรใต้ เป็นต้น

    พระเทพสิทธินายกได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นสามัญถึงชั้นเทพในราชทินนามเดิม คือ
    พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นพระเทพสิทธินายก (ชั้นสามัญ)
    พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระเทพสิทธินายก (ชั้นราช)
    พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นพระเทพสิทธินายก (ชั้นเทพ)

 

๓. พระธรรมคุณาภรณ์
    พระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ.๙) วัดโพธาราม อดีตเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๖ ท่านเป็นชาวอำเภอพยุหะคีรี และเป็นพระภิกษุรูปแรกที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ทั้งที่อยู่จำพรรษา ณ วัดในต่างจังหวัด คือวัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จนกระทั่งแม่กองบาลีสนามหลวงต้องขอดูตัว

    พระธรรมคุณาภรณ์ได้สืบต่องานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีของวัดเขาแก้วต่อจากพระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด อกฺกวํโส) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์  ให้เจริญรุ่งเรืองต่อมา จนกระทั่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ได้เสนอแนะให้ท่านย้ายไปอยู่จำพรรษา ณ วัดโพธาราม อำเภอเมือง เพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ต่อจากพระครูสวรรค์นครจารย์ เจ้าอาวาส ซึ่งชราภาพมากแล้ว

    พระธรรมคุณาภรณ์ได้วางรากฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีที่วัดโพธาราม จนเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และมีพระภิกษุสามเณรผู้ใฝ่การศึกษาจากภาคต่าง ๆ เดินทางไปขออยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นจำนวนมากพระภิกษุจากวัดโพธารามหลายรูปสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค และได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ดำรงตำแหน่งบริหารปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดนครสวรรค์ ใกล้เคียง อยู่ปัจจุบันนี้อีกหลายรูป

    พระธรรมคุณาภรณ์ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญและได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับ คือ
    พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระเมธีวรคณาจารย์
    พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นพระเมธีวรคณาจารย์ (ชั้นราช)
    พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นพระเทพเมธาจารย์
    พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นพระธรรมคุณาภรณ์

    ๔. พระเทพคุณาภรณ์
    พระเทพคุณาภรณ์ (พุฒ วุฑฺฒิทตฺโต) วัดโพธาราม อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเป็นชาวอำเภอบรรพตพิสัย เคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองสมัยที่ยังอยู่ที่วัดพรหมจริยาวาส เมื่อพระเทพสิทธินายกมรณภาพแล้ว ท่านก็ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นคณะจังหวัดนครสวรรค์และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม พระอารามหลวง ใสมัยที่พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.๙) วัดทองนพคุณ เป็นเจ้าคณะภาค ๔

    พระเทพคุณาภรณ์เป็นพระมหาเถระที่เจริญด้วยอายุพรรษาและเจริญด้วยเมตตาธรรมเป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์และชาวจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูนิทานโพธิวัฒน์เป็นเบื้องต้น และได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นต่าง ๆ คือ
    พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นพระนิทานโพธิวัฒน์
    พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชพรหมาภรณ์
    พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นพระเทพคุณาภรณ์

    ๕. พระนิพันธ์ธรรมาจารย์
    พระนิพันธ์ธรรมาจารย์ (คล้าย) วัดสามัคยาราม อดีตเจ้าคณะอำเภอท่าตะโก ท่านเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณ เป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์และชาวจังหวัดนครสวรรค์อีกรูปหนึ่ง  ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูนิพันธ์ธรรมคุตเป็นเบื้องต้น และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระนิพันธ์ธรรมาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕

    ๖. พระนิภากรโศภน
    พระนิภากรโศภน (จันทร์ อนุกฺกโม น.ธ.เอก,ป.ธ.๖) วัดชุมแสงเจ้าคณะอำเภอชุมแสง และศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ ในสมัยที่คณะสงฆ์ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นแม่บทในการปกครอง ท่านเป็นพระธรรมกถึกที่มีชื่อเสียงในเขตภาคเหนือ และเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีที่วัดชุมแสง ทำให้วัดชุมแสงเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูนิภากรโศภนเป็นเบื้องต้น และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระนิภากรโศภน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ต่อมาท่านได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตลาสิกขา ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว และถึงแก่กรรมในเพศของฆารวาส

    พระเทพญาณโมลี (ประสิทธิ์ มิตฺตธมฺโม น.ธ.เอก, ป.ธ.๖) วัดนครสวรรค์ เป็นชาวจังหวัดพิจิตร ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่บ้านวังกรด ตำบลวังกรด อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

    ภายหลังที่เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๕ จากโรงเรียนวัดวังกรดซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้วต่อมาวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะมีอายุ ๑๕ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนครสวรรค์ โดยพระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ) วัดนครสวรรค์เป็นพระอุปัชฌาย์ และวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็ได้อุปสมบทที่   วัดนครสวรรค์ โดยพระเทพสิทธินายก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิเทศธรรมวิศิษฏ์  สมัยเป็นพระครูปลัดมณีวัดนครสวรรค์ และพระครูสมุห์ทองใบ วัดนครสวรรค์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ตามลำดับพระเทพญาณโมลีได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลีที่  วัดนครสวรรค์มาโดยตลอดจนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปีพ.ศ.๒๔๘๒ และสอบได้เปรียญธรรม ๖  ประโยคในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ นอกจากท่านจะได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมทั้ง ๒ แผนก ช่วยสนองงานการศึกษาของพระเทพสิทธินายกอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว ท่านยังได้ฝึกเทศน์จนเป็นพระธรรมกถึกที่มีชื่อเสียงโดเด่นอีกรูปหนึ่งในเขตภาคเหนือ

    เมื่อพระเทพสิทธินายกมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ แล้ว พระเทพญาณโมลีก็สืบต่องานการศึกษาพระปริยัติธรรมทังแผนกธรรมและบาลีทำให้สำนักเรียนวัดนครสวรรค์มีชื่อเสียงโดดเด่นยิ่งขึ้น ท่านได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์หลายระดับ คือ
    พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์
    พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองนครสวรรค์
    พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๔

    พระเทพญาณโมลีเป็นพระเถระที่มีความรู้ความสามารถ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ และได้รับเกียรติบัตร โล่ รางวัล และปริญญากิตติมศักดิ์ จากหน่วยงานของคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษา เช่น พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นกรรมการปาลิโสธกะ พระไตรปิฎกฉบับสังคยนาพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ
    พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับโล่เกียรติคุณจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถมภ์
    พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นกรรมการที่ปรึกษาการแปลพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์พระเทพญาณโมลีมีผลงานสำคัญที่สุดในชีวิตอีกชิ้นหนึ่ง คือในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านได้ขออนุมัติจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อเปิดเป็นศูนย์ศึกษาขึ้นที่วัดนครสวรรค์และแม้จะได้รับอนุมัติจากมหาจุฬาฯแล้วแต่ยังอยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อเปิดการศึกษา ท่านก็ต้องมามรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ แม้กระนั้นก็นับว่าท่านมีบุญมากที่ศิษย์เอกของท่านคือพระเทพปริยัติเมธี (สฤษฏิ์ สิริธโร ป.ธ.๙,พธ.ด.) สมันดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิคุณ  ซึ่งมีความกล้าเป็นเลิศ ได้เข้ามาสืบสานงานส่วนนี้ต่อ ท่ามกลางความมืดมนอันธการเหมือนลูกขาดพ่อที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แต่ด้วยปัญญาและความกล้าของท่านที่ทุมเทให้แก่งานส่วนนี้ชนิดตายเป็นตาย ภายในระยะเวลาเพียง ๑๐ ปีเศษ    
    ท่านก็สามารถแปลงนัตถิปัจจัยให้เป็นอัตถิปัจจัย นั่นคือสร้างวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ให้เจริญรุ่งเรือง ดังเป็นที่ประจักษ์กันเป็นอย่างดีอยู่ในปัจจุบันนี้
    พระเทพญาณโมลีได้รับพระราชทานแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ ตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรถึงพระราชาคณะ ดังนี้
    พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระครูนิภาธรรมประสิทธ์
    พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นพระสิทธิธรรมเวที
    พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นพระราชสิทธิเวที
    พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นพระเทพญาณโมลี

    พระเทพญาณโมลี (ประสิทธิ์ มิตฺตธมฺโม ) ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ขณะอายุได้ ๗๕ ปี ๑๑ เดือน ๑๕ วัน ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ท่ามกลางความเศร้าสลดใจของคณะศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือทั้งภายในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียงท่านได้ทิ้งเกียรติคุณและผลงานส่วนรวมไว้ให้อนุชนได้ศึกษาและดำเนินการนานัปการ

    โดยเฉพาะการอนุมัติจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ขึ้นที่วัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นงานสร้างพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ และสร้างคนให้มีศาสนาที่กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบันนี้นับเป็นผลงานอมตะชิ้นสุดท้ายของพระเทพญาณโมลีที่ทุกท่านจะต้องร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาให้เป็นที่ประจักษ์สืบต่อไป

๘. พระเมธีวรคณาจารย์
    พระเมธีวรคณาจารย์ (สว่าง อคฺคธมฺโม ป.ธ.๗) วัดโพธาราม ท่านเป็นชาวอำเภอไพศาลี เคยไปจำพรรษาที่วัดสุวรรณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยคแล้ว ได้กลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอไพศาลี
    พ.ศ. ๒๕๑๘ พระเมธีวรคณาจารย์ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดโพธาราม พระอารามหลวง และเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ โดยการสนับสนุนของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณเจ้าคณะภาค ๔ ในสมัยนั้น ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดโพธารามเพื่อช่วยสนองงานพระเทพคุณาภรณ์ (พุฒ วุฑฺฒิทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดโพธารามและเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชราภาพมากแล้ว
    และในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้นเอง ท่านก็ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระเมธีวรคณาจารย์ และเป็นที่คาดหวังกันว่าท่านจะได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม และเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์รูปต่อ ๆ ไป แต่ท่านก็มาด่วนมรณภาพไปก่อน

    ๙. พระสุนทรธรรมเวที
    พระสุนทรธรรมเวที (ประเทือง ธมฺมาราโม น.ธ.เอก, ป.ธ.๖) วัดโพธาราม ท่านเป็นชาวจังหวัดพิจิตรเคยอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีที่วัดนครสวรรค์ เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูนิทัศนสารโกวิท แล้วได้ย้ายไปเป็นเจ้าคณะอำเภอชุมแสงและเจ้าอาวาส
วัดแสงสวรรค์ ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุนทรธรรมเวที เมื่อพระเทพคุณาภรณ์มรณภาพแล้ว ท่านก็ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธารามพ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อพระเทพญาณโมลี (ประสิทธิ์ มิตฺตธมฺโม) ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค ๔ พระสุนทรธรรมเวทีก็ได้รับพระบัญชา
แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์สืบต่อมา แต่น่าเสียดายที่ท่านมา มรณภาพในขณะที่มีอายุยังไม่มากนักการกล่าวถึงความเป็นมาและผลงานเพียงบางส่วนของพระเถระทั้ง ๙ รูป ซึ่งอยู่ในช่วงของ๙ อดีต ก็เพื่อให้ตำนานของท่านเหลืออยู่ในความทรงจำของปัจจุบันชน ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ได้สำเหนียกและตั้งใจศึกษาปฏิบัติตามเพราะหาก ๙ อดีตนี้เห็นแก่ความสุขความสบายส่วนตนมิได้สร้างสรรค์งานด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีไว้ให้เป็นมรดกตกทอด บางที ๙ ปัจจุบันที่กล่าวถึงต่อไปนี้อาจมิได้ทรงคุณค่าและมีปริสิทธิภาพ ดังเช่นปัจจุบันนี้ก็ได้

   
     
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2556
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน