|
|
บทสรุป๙ อดีต ๙ ปัจจุบัน
เป็นมุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยแห่งการเชื่อมต่อกันอย่างผสมกลมกลืนของพระเถระในอดีตกับพระเถระในปัจจุบันของวงการคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะงานด้านการศึกษานั้น พระเถระในอดีตทั้ง ๙ ท่านได้เสียสละทุ่มเทจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลี ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมา ตามสติปัญญาและความสามารถที่แต่ละท่านจะพึงกระทำได้การศึกษาปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลีนั้น ถือเป็นการศึกษาสายตรงในพระพุทธศาสนา โดยไม่มีวิชาการด้านอื่นมาเจือปน แม้จะไม่กว้าง แต่ก็มีความลึก เสมือนการขุดบ่อน้ำ แม้ปากบ่อจะไม่กว้าง แต่บ่อน้ำที่ขุดลงไปนั้นจะขุดลึกลงไปจนถึงตาน้ำเพียงแต่ว่าบ่อน้ำบางแห่งอาจตื้นลึกไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละที่จะมีตาน้ำตื้นลึกแตกต่างกันเป็นสำคัญแม้สภาพบ่อน้ำโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้อาจตื้นไปบ้าง และคนในปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยนิยมใช้น้ำบ่อ เพราะคิดว่าไม่สะอาด และกว่าจะโพงขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ก็ลำบากเอาการ นั่นหมาย ความว่า ปัจจุบันนี้การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี อาจดูอ่อนล้าไปมากการเรียนการสอนไม่ค่อยขะมักเขม้นและจริงจังเหมือนสมัยก่อนแม้กระนั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีก็ยังมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ เพราะเป็นการศึกษาสายตรงในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงเพียงแต่ว่าจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร จึงจะทำให้การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทั้ง ๒ แผนก แม้จะมีพระภิกษุสามเณรสนใจเรียนน้อยไปบ้าง แต่หากสามารถสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ลุ่มลึกในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และมีหลักประกันในชีวิตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็น่าเชื่อว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง ๒ แผนกดังกล่าวนี้ จะสามารถดึงดูดความสนใจของพระภิกษุสามเณรให้หันมาสนใจเรียนเพิ่มมากขึ้นก็ได้
อนึ่ง นับเป็นนิมิตหมายที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ที่การศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ในปัจจุบันนี้ มีทั้งส่วนที่เป็นบ่อน้ำลึก และบ่อน้ำอันกว้างใหญ่คือ การศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลี ก็มีสำนักเรียนที่นอกจากจะมีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดในภาคเหนือแล้วยังเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศอีกด้วยการศึกษาในส่วนนี้เป็นเสมือนการขุดบ่อน้ำลึกลงไปหาองค์ความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั่นเอง
การศึกษาของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ก็มีอาคารเรียนสถานที่ครบถ้วนบริบูรณ์ มีนิสิตทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ มิได้น้อยไปกว่าวิทยาลัยสงฆ์อื่น ๆ การศึกษาในส่วนนี้เป็นเหมือนการขุดบึงอันกว้างใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับวิชาการทางโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และส่วนรวมคือประเทศชาติและพระศาสนาสืบไป
การที่คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์สามารถจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี และวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ให้เจริญควบคู่กันได้อย่างผสมกลมกลืนเช่นนี้ คงเป็นการยากหากจะมิใช่เพราะพระเถระในช่วงของ ๙ อดีต นับตั้งแต่พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด อกฺกวํโส ป.๖) วัดเขาแก้ว อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ได้ลงมือจัดการศึกษาแบขุดบ่อน้ำลึก คือพระปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลี อย่างเป็นระบบขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นพระเถระรูปต่อ ๆ มาก็ได้นำแบบอย่างไปจัดการศึกษาขึ้นในวัดต่าง ๆ สืบต่อมาโดยลำดับตราบเท่าปัจจุบัน
เมื่อมาถึงยุคของพระเทพญาณโมลี (ประสิทธิ์ มิตฺตธมฺโม น.ธ.เอก, ป.ธ.๖) วัดนครสวรรค์ อดีตรองเจ้าคณะภาค ๔ ภายหลังจากการที่ได้จัดการศึกษาแบบขุดบ่อน้ำลึก คือพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี สืบต่อมาเป็นเวลายาวนาน ท่านได้หันมาสนใจการจัดการศึกษาแบบขุดบึงอันกว้างใหญ่ขึ้นควบคู่กัน โดยได้ขออนุมัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวัดมหาธาตุ เปิดการศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ขึ้นที่วัดนครสวรรค์เป็นเบื้องต้น ก่อนที่คหปตานีตระกูลภัทรประสิทธิ์จะมีกุศลศรัทธาอันแรงกล้าถวายที่ดินประมาณ ๕๐๐ ไร่ กลางตัวเมืองนครสวรรค์ ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารเรียนและเปิดการเรียนการสอนอย่างสมบูรณ์แบบอยู่ในปัจจุบันนี้
|
|
|