ความหมายของสุภาษิต
สุภาษิต หมายถึง
ถ้อยคำที่สั่งสอนหรือห้ามโดยตรง มีคำเปรียบเทียบบ้างไม่มีบ้าง เช่น คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ, อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา, น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือ
คำพูดที่ถือเป็นคติ มีความลึกซึ้งใช้สั่งสอนถือเป็นการวางแนวและแสดงค่านิยมของมนุษย์มาแต่โบราณกาล เช่น สุภาษิตสอนหญิง สุภาษิตพระร่วง ก็มีข้อความสั่งสอนที่ค่านิยมของสมัยนั้นๆไว้อย่างชัดเจนตลอดจนพุทธสุภาษิตคำสั่งสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนาข้อความหรือถ้อยคำสั้น ๆ มีความกะทัดรัด มักมีความหมายไปในทาง แนะนำสั่งสอน มีคติสอนใจ ให้ความจริงเกี่ยวกับความคิดและแนวปฏิบัติซึ่งสามารถพิสูจน์เชื่อถือได้
ลักษณะของสุภาษิต
|
สุภาษิตมักจะเป็นข้อความสั้น ๆ ใช้คำง่าย ๆ แบบเอกรรถประโยค หรือเป็นประโยคแบบอเนกรรถประโยคก็ได้ และมักจะมีลักษะเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย สามารถแบ่งได้ ดังนี้
(๑) สุภาษิตของนักปราชญ์ต่าง ๆ รวมถึงพุทธภาษิต เช่น
- ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
- ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
- ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
- จงเตือนตนเองด้วยตนเอง
(๒) สุภาษิตชาวบ้าน เป็นสุภาษิตที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าว เช่น
- นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย
- ยิ่งหยุดยิ่งไกล ยิ่งไปยิ่งแค่ ( แค่ แปลว่า ใกล้ เป็นภาษาปักษ์ใต้)
- อย่ารักเหากว่าผม อย่ารักลมกว่าน้ำ อย่ารักถ้ำกว่าเรือน อย่ารักเรือนกว่าตะวัน
|