Ran khaa ya
     
 

สงกรานต์ของแต่ละภาค

      ปัจจุบันแม้ประเพณีสงกรานต์ในหลายท้องที่ จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะตามจังหวัดใหญ่ๆ แต่ในแต่ละภูมิภาคก็ยังมีเอกลักษณ์ เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ คือ
ภาคเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ล้านนา
      เขาจะเรียกวันที่ 13 เมษายนว่า วันสงกรานต์ล่อง หมายถึง วันที่เก่าผ่านไป หรือวันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี วันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี ตอนเช้าจะมีการยิงปืน หรือจุดประทัดเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร จากนั้นก็จะมีการทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้างร่างกาย รวมทั้งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เพื่อต้อนรับปีใหม่
      วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หรือ วันดา จะเป็นวันเตรียมงานต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหาร ที่จะไปทำบุญและแจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน วันนี้ที่เรียกว่า วันเน่า เพราะว่าเป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคายเพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าไม่เจริญ
      วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่ ชาวบ้านจะทำบุญประกอบกุศล เลี้ยงพระ ฟังธรรม อุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
      นอกจากนี้หลายท้องถิ่นยังจัดการละเล่นรื่อเริง สนุกสนาน มีมหรสพการแสดง หรือมีการจัดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเสริมไปด้วย เช่น การประกวดกลองมองเชิง กีฬาพื้นเมืองเป็นต้น

ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ
       ประเพณีสงกรานต์จะจัดกิจกรรม 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือ อาจจะ 7 วัน ก็แล้วแต่ท้องถิ่นกำหนด โดยวันแรกจะตรงกับวันที่ 13 เมษายนสงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา”และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

ภาคใต้
        สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เมษายน) เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" หรือ "วันเจ้าเมืองเก่า" โดยเชื่อกันว่าในวันนี้ เจ้าเมืองหรือเทพยดาประจำปีผู้ทำหน้าที่รักษาดวงชะตาของบ้านเมือง จำเป็นต้องละทิ้งบ้านเมืองที่ตนรักษาไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้ชาวบ้านจึงทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและร่างกาย บางทีก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ เพื่อฝากเคราะห์กรรมซึ่งตนประสบไปกับเจ้าเมืองเก่า และอธิษฐานขอให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่

ภาคกลาง
        เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน "มหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" วันที่ 15 เป็นวัน "วันเถลิงศก" ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

        ขณะเดียวกัน ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลาง มีความหลากหลายแตกต่างกัน แต่ถ้าจะพูดถึงประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง หลาย ๆ คนคงนึกถึง สงกรานต์ที่พระประแดง เพราะเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้อย่างครบครัน เพราะพวกเขาถือว่าเป็นเวลาที่คนมอญ จะต้องแสดงความกตัญญต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ ซึ่งประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญพระประแดง หรือชาวมอญปากลัด จะตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทย นั่นคือวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายนของทุกปี

 
   
     
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2556
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน