ประเภทการออกกำลังกายสำหรับวัยรุ่น
1. ว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพ เพราะร่างกายได้เคลื่อนไหวทุกส่วนได้คุณค่าการใช้พลังงานนอกจากนี้ยังมีแรงพยุงในน้ำจึงเหมาะสำหรับวัยรุ่นที่มีรูปร่างอ้วนหรือมีปัญหาที่ข้อต่อเป้าหมายในการว่ายน้ำเพื่อสุขภาพควรฝึกสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง สัปดาห์ละ 90 นาที ควรว่ายน้ำให้เร็วและไกลพอควร เช่น ควรว่ายน้ำให้ได้ในระยะ300 เมตร ติดต่อกันภายในเวลา 8 นาที (นทีรักษ์พลเมือง และวิจัย วนดุรงค์วรรณ. 2530 : 117
2. วิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายที่สุด ประหยัดและได้รับความนิยมมากใครๆ ก็สามารถทำได้ แต่ข้อควรระวังเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการวิ่งคือการวิ่งไม่ถูกวิธี วิ่งมากเกินไป การวิ่งจะไม่แนะนำสำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมากเนื่องจากแรงกระแทกจะมาก อาจเกิดปัญหากับขาและข้อเข่าได้
3. การเดิน คือ การเดินระยะไกลและเดินเร็วพอควร การเดินในระยะต้นควรใช้เวลาประมาณ15-30 นาที ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคนเดิน เมื่อร่างกายแข็งแรงแล้วจึงเพิ่มเวลาเดินให้มากเดินก้าวเท้ายาว ๆ ในจังหวะเร็ว เพราะต้องใช้พลังงานมากกว่าการเดินก้าวเท้าสั้น ๆ และถี่ ๆการเดินชนิดนี้ต้องรู้สึกหอบพอสมควร ควรเดินให้ได้ประมาณวันละ 30-60 นาที เดินติดต่อกันไปไม่มีการพักจึงจะพอเพียงที่จะรักษาร่างกายให้แข็งแรงได้
4. เต้นแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้หญิงโดยใช้ในการลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายแบบแอโรบิคมีการสูดหายใจเข้าออกในขณะที่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายต่อเมื่อในแต่ละครั้งกระทำติดต่อกันเป็นเวลานานพอ การออกกำลังกายแบบแอโรคบิคมีผลทำให้ระบบทำงานของหัวใจ ปอด หลอดโลหิตและระบบไหลเวียนของโลหิตแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
5. การขี่จักรยานเดินทาง การขี้จักรยานเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีประเภทหนึ่ง เหมาะสมสำหรับวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินหรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อ แต่การขี่จักรยานต้องใช้เวลามากกว่าการวิ่ง โปรแกรมขี่จักรยานที่เหมาะเพื่อสุขภาพคือ ขี่จักรยานวันละ 30 นาที โดยใช้ความเร็วพอสมควรและสม่ำเสมอหรือขี่ช้าๆ สลับเร็ว ๆ เป็นช่วง ๆ ระยะการที่ใช้ควรไกลพอควรในระยะแรกควรประมาณ 4-6 กิโลเมตรก่อน ต่อไปจึงเพิ่มระยะทางและความเร็วให้ได้ตามกำหนด ควรเลือกจักรยานที่เหมาะสมกับรูปร่าง ดูแลให้สูบลมแข็งพอที่จะขี่ไปได้สบาย ตรวจสอบเบรคและส่วนอื่น ๆเพื่อความปลอดภัย
6. กระโดดเชือก เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่เป็นการเล่นพื้นเมืองของไทยทำได้ง่าย สะดวก ใช้เนื้อที่จำกัด ก่อนการกระโดดเชือกควรอบอุ่นร่างกายก่อน 5-10 นาที ควรกระโดดเชือกนาน 6 นาทีเป็นอย่างน้อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 5-10 นาที วัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกิน มีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อมีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ ความดันโลหิต เบาหวาน ไม่ควรออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือก
|
7. โยคะ เป็นการออกกำลังกายที่ผสมกับการควบคุมการหายใจให้เข้าจังหวะกัน ต้องมีครูฝึกที่รู้จริงและปฏิบัติอย่างจริงจังก็ให้ประโยชน์อย่างสูง
|