Ran khaa ya
   
 
เทคนิคเลิกขี้เกียจ
 

ต้นตอของความขี้เกียจคืออะไร?

ขี้เกียจ   อุปสรรคตัวสำคัญของมนุษย์
 หากชีวิตคนเราไม่เดินไปข้างหน้าแล้ว
 ความหวัง  ความฝันที่ตั้งไว้ ก็คงไม่มีวันเป็นจริง
 เพราะถูก ความขี้เกียจ กัดกินจนหมดสิ้น

 

           ถ้าหากดูจากนิวรณ์สิ่งที่กีดขวางมนุษย์จากการที่ใจนิ่งเป็นสมาธิ(Meditation) พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่ามี 5 อย่าง
        1.กามฉันทะ ได้แก่ ความเพลิดเพลินไปในเบญจกามคุณทั้ง ๕ รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส เมื่อไปเพลิดเพลินในสิ่งเหล่านี้มากเท่าไหร่จะบั่นทอนความวิริยะ อุตสาหะของเราลงทันที และเกิดเป็นอาการเกียจคร้าน 
        2.พยาบาท ได้แก่ เมื่อมีความโกรธแค้นใคร ส่งผลให้ทำงานไม่รู้เรื่อง หูอื้อ ตาลาย คิดอะไรไม่ออก ต้องทำใจเราให้โปร่งๆ เพราะถ้าพยาบาทเมื่อไหร่จะทำให้ใจเราเสียคุณภาพของใจ              
        3.ถีนมิทธะ ได้แก่ ความท้อถอย หดหู่หรือความง่วงหงาวหาวนอน เมื่อมีอาการง่วงๆ ทำให้ความขยันลดลงหรือช่วงที่ใจกำลังหดหู่มีความรู้สึกว่าทำไม่ได้ ทำไม่ไหวความรู้สึกที่ต้องต่อสู้กับงานจึงถอย 
        4.อุทธัจจกุกกุจจะ ได้แก่ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ถ้าเราอยู่ในช่วงที่มีเรื่องฟุ้ง กังวล คิดไปสารพัด ทำให้ไม่ได้งานเพราะมัวแต่ใจลอยคิดมากทำให้งานไม่เกิด
        5.วิจิกิจฉา ได้แก่ ความลังเล สงสัย เมื่อจะทำงานก็มีความลังเลไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้จะไปทางไหนดี

ตัวตนของ "ความขี้เกียจ"

           ความขี้เกียจ คือ อาการของคนที่ต้องทำเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่เคยทำและเคยประพฤติปฎิบัติ เกิดจากความฝืนใจของตนเอง และไม่สามารถทนต่อแรงฝืนนั้นได้ เช่น ทุก ๆ วันเรานอน 3 ทุ่มแต่วันนี้เราต้องทำการบ้าน เราทนที่จะอดนอนไม่ไหวเพื่อทำการบ้านและเราเลือกที่จะนอน อย่างนี้เรียกว่าขี้เกียจ
ความขี้เกียจอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ เราเห็นว่าตัวเราขี้เกียจหรือคนอื่นเห็นว่าเราขี้เกียจ ทั้งสองอย่างอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้
ความขี้เกียจอาจแยกได้เป็น 2 ประเด็น คือ
           1) เราจำเป็นต้องทำเรื่องนั้นจริง ๆ แต่เราเลือกที่จะไม่ทำและไปทำอย่างอื่นแทน
           2) เพราะว่าเราต้องทำเรื่องที่ฝืนธรรมชาติของตัวเรามากเกินไปจึงเกิดอาการขี้เกียจ
การที่เห็นว่าตนเองเป็นคนขี้เกียจ อาจให้ความหมายในมุมของการไม่เห็นคุณค่าของตนเอง บางครั้งเราทำอะไรที่มีคุณค่ามากมาย แต่เมื่อเราไม่ได้ทำอะไรบางอย่างที่ควรทำในบางครั้งก็คิดว่าเราขี้เกียจ
วิธีที่จะทำให้ความขี้เกียจลดน้อยลงไป อาจทำได้ 2 วิธี ได้แก่
           1) กลับไปทำเรื่องนั้นซ่ะเพราะมันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และสมควรทำ นี่เป็นวิธีคิดในรูปแบบเดิม ๆ
           2) คิดว่าทุกเรื่องที่เราทำมีความสำคัญเท่ากันหมด
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ ณ ปัจจุบัน มีความหมายและมีความสำคัญ ความขี้เกียจจึงไม่ปรากฏในจิตใจหลายครั้งคนเราต้องทำอะไรมากเกินไปและเมื่อเราไม่ได้ทำก็อาจถูกคิดว่า “ขี้เกียจ” แต่หากเราไม่ทำอะไรมากเกินไป “ความขี้เกียจ” อาจลดน้อยลง ความขี้เกียจเป็นผลมาจาก “ความคาดหวัง” เมื่อไม่ได้ตามคาดหวัง ก็อาจถูกตีค่าว่า “ขี้เกียจ” หากเราไม่ยึดอะไรจนมากเกินไปและปล่อยไปตามธรรมชาติบ้าง ความขี้เกียจก็อาจลดน้อยลงไป นี่เป็นวิธีการลดความรู้สึกที่ถูกเรียกว่าขี้เกียจ


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทสนทนา

           1) เราอย่าขี้เกียจเพราะความขี้เกียจไม่ไดสร้างคุณค่าแก่ตัวเรา
           2) เราควรใช้วิจารนญาณว่าแท้จริงแล้วเราขี้เกียจจริงหรือไม่
           3) การคิดว่าเราขี้เกียจอาจเป็นการลดค่าของตนเองและเห็นว่าตนเองไม่มีค่า
           4) ความขี้เกียจเป็นเพียงอาการของความรู้สึก เป็นสิ่งสมมติหากเราไม่รู้สึกว่าเราขี้เกียจความขี้เกียจก็ไม่มี

ความรู้ต่อยอดจากการสนทนา

           ทำให้เข้าใจกฎของ Boom’s Taxonomy มากขึ้นว่า ความรู้แต่ละขั้นคืออะไรและองค์ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร การสนทนาช่วงแรกเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่อง ความขี้เกียจ ซึ่งได้นิยามความหมายของคำว่าขี้เกียจขึ้นทำให้เรา เข้าใจคำว่าขี้เกียจอย่างถ่องแท้ แต่เดิมเราแค่รู้ แค่จำแต่อาจยังไม่เข้าใจ การสนทนาช่วงที่สอง เป็นการวิเคราะห์ความขี้เกียจในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้เห็นสาเหตุของการขี้เกียจมากขึ้น การสนทนาช่วงต่อไปเป็นการสังเคราะห์ว่า ความขี้เกียจเกิดจากอะไร  การสนทนาช่วงสุดท้าย เป็นการหาวิธีปฏิบัติ(นำไปใช้)ว่าถ้าเราจะทำให้ความขี้เกียจลดลงสามารถทำอย่างไรได้บ้าง จากการสนทนานี้ทำให้เห็นคุณค่า(ประเมินผล) ว่า เราควรกำจัดความขี้เกียจออกไปเพราะมันไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงค์ชีวิตของมนุษย์

           นอกจากนั้นแล้วภายหลังจากการสนทนายังสามารถสรุปเป็นความรู้เรื่องการขี้เกียจได้อีก 4 ประเด็น ทำให้เข้าใจว่า ในการเรียนรู้หนึ่งครั้ง เราสามารถบรรลุหลักของ Boom’s ได้ทั้ง 6 ข้อ และเราควรทำให้บรรลุในการสอนแต่ละครั้ง เพราะจะทำให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริง กับผู้เรียน

           รู้หรือไม่ว่า...ความขี้เกียจ คือ หนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของการใช้ชีวิต ที่จะขัดขวางไม่ให้คุณไปถึงเป้าหมาย เพราะมัวแต่ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ และหากมันเกาะติดตัวไปนานๆ มันจะเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นคนหยุดนิ่ง เฉื่อยชา จนไม่อยากจะทำอะไรอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องสลัดความขี้เกียจทิ้งไปโดยด่วน ดังนี้

วิธีที่หนึ่ง : ดูแลร่างกายและจิตใจ
           ถ้าคุณรู้สึกขี้เกียจ สิ่งแรกที่อยากให้นึกถึงคือ อาจเป็นเพราะร่างกายและจิตใจของคุณยังไม่พร้อม จึงควรหาวิธีดูแล เพื่อสร้างพลังให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนี้
           1. นอนหลับ ควรนอนหลับให้ได้วันละ 8 ชม. และพยายามนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพราะการเข้านอนไม่เป็นเวลาหรืออดนอน อาจส่งผลให้หมดเรี่ยวแรงและขี้เกียจได้
           2. ออกกำลังกายเป็นประจำ เริ่มง่ายๆด้วยการเดินเร็วๆ ก็จะช่วยเพิ่มพลัง และทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้อารมณ์ดี กระตุ้นให้คุณรู้สึกอยากออกไปทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ
           3. กินอาหารที่มีประโยชน์ การกินอาหารไม่ครบหมวดหมู่ อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และความรู้สึกขี้เกียจก็จะตามมา ทางที่ดีควรพยายามงดพวกอาหารขยะ(Junk Foods) และหันมากินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบมื้อทุกวัน
           4. ขอความช่วยเหลือ หากทำตาม 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังรู้สึกขาดเรี่ยวแรงและขี้เกียจอยู่ นั่นอาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรง เช่น โรคสมาธิสั้น จึงควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

วิธีที่สอง : สร้างความรู้สึกดีๆให้ตัวเอง
ความรู้สึกขี้เกียจ เฉื่อยชา มักเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเองหรือชีวิต และต่อไปนี้คือวิธีง่ายๆที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดีๆขึ้นได้
           1. ทำความสะอาดบ้านและที่ทำงาน บ่อยครั้งที่การจัดบ้านและที่ทำงานให้แลดูสะอาด เป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง เปรียบเสมือนการหยิบความยุ่งเหยิงออกจากใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกมีพลัง อยากทำงานมากยิ่งขึ้น
           2. เริ่มต้นวันด้วยการพูดเรื่องดีๆกับตัวเอง เช่น “วันนี้ฉันจะเคลียร์งานที่ได้รับมอบหมายมาให้เสร็จ”
           3. ฟังดนตรีเร้าใจ อย่างเช่นดนตรีที่ใช้ประกอบการออกกำลังกาย เช่น การเต้นแอโรบิค จะกระตุ้นให้เกิดพลังและความกระปรี้กระเปร่า คุณจึงเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างแจ่มใส
           4. เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง มีผลทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ถ้าคุณพยายามทำงานชิ้นหนึ่งในห้องนอน มีแนวโน้มที่คุณจะอยากเอนตัวลงนอน มากกว่านั่งทำงาน ดังนั้น หากต้องการทำงานนั้นให้สำเร็จ ควรเปลี่ยนสถานที่ในการทำงานนั้นๆ
           5. อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก คุณอยู่ใกล้คนแบบไหน ก็จะมีพฤติกรรมคล้ายคนแบบนั้น จึงควรพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้คุณ เพราะพลังด้านดีจากคนเหล่านั้นจะเผื่อแผ่มายังคุณด้วย
           6. บอกเป้าหมายของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ ถ้าคุณกำลังคิดจะเปลี่ยนงานหรือเรียนต่อ จงบอกให้คนรอบข้างรับรู้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คุณขี้เกียจไม่ได้ และเป็นเงื่อนไขว่าคุณต้องทำให้สำเร็จ
           7. ไม่ต้องเป๊ะเสมอไป หากคุณกำลังรอคอยเวลาเหมาะๆ ที่จะทำงานให้สำเร็จโดยไม่มีข้อผิดพลาด ต้องบอกว่า รอไปเถอะ ไม่มีทางได้เริ่มต้นทำแน่ๆ และที่น่าเสียดายคือ ความสมบูรณ์ไร้ที่ตินั้น มักเป็นหนึ่งในข้ออ้างหลักๆที่ทำให้คุณผัดผ่อนไปเรื่อยๆนั่นเอง

วิธีที่สาม : จัดแบ่งเวลาให้ลงตัว
           หากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ จนไม่รู้จะเริ่มต้นทำอันไหนก่อนดี ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณจัดสรรเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           1. เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ เมื่อมีหลายเรื่องที่ต้องทำในแต่ละวัน ควรเขียนลำดับความสำคัญของงานลงบนกระดาษ เพื่อช่วยให้เห็นถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำ ดังนี้ “สิ่งที่ต้องทำ” “สิ่งที่ควรทำ” และ “สิ่งที่น่าจะทำ”
           2. อย่าทำเรื่องยากเป็นเรื่องแรก เมื่อเริ่มต้นวัน ขอให้อุ่นเครื่องด้วยการทำงานง่ายๆ เป็นอันดับแรกก่อน จะได้มีเวลาเหลือไว้ทำเรื่องยากที่สุด เพราะงานยากมักต้องใช้เวลาทำมากกว่าปกติ ซึ่งการทำงานง่ายๆให้สำเร็จก่อน จะช่วยให้มีกำลังใจทำงานชิ้นยากๆต่อไปได้
           3. ทำตามกำลัง อย่าเหมางานทั้งหมดมาทำเอง เพราะงานที่มากเกินกำลัง จะทำให้รู้สึกขี้เกียจ จนไม่อยากทำ ขอให้เลือกเพียง 1-2 เรื่อง และทุ่มเททำมันให้สำเร็จ ที่สำคัญ อย่าทำหลายๆเรื่องพร้อมกัน จนทำไม่ได้ดีสักเรื่อง
           4. ย่อยงานเป็นชิ้นเล็กๆ มีอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยหลีกเลี่ยงความรู้สึกว่ากำลังทำงานชิ้นใหญ่ คือ การย่อยงานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วลงมือทำแต่ละชิ้นให้สำเร็จ
           5. ขีดเส้นตาย หากมีโครงการที่ต้องทำ ขอแนะให้ขีดเส้นตายว่า ต้องทำให้เสร็จเมื่อไหร่ ไม่งั้น คุณก็จะเลื่อนมันไปจนถึงวินาทีสุดท้าย จึงค่อยลงมือทำ แต่ถ้าจะให้ดี ควรทำเป็นตารางเวลา ระบุการทำงานทุกขั้นตอนจนเสร็จสิ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ต้องเร่งรีบจนเกินไป

วิธีที่สี่ : ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า
           เวลาของคุณมีค่าเสมอ จึงต้องรู้วิธีจัดการ เพื่อขจัดความขี้เกียจ และใช้เวลาในแต่ละวันให้คุ้มค่า ดังนี้
           1. ใช้เวลาว่างเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หาเวลาว่างทำงานอดิเรกหรือสิ่งที่สนใจใหม่ๆบ้าง เพราะมันจะช่วยเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
           2. ทำทันที หากมีงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ อย่าเลื่อนไปจนถึงวันหยุด ค่อยลงมือทำ แต่ขอให้เริ่มต้นทำทันที
           3. ขจัดโรคเลื่อน ต้องรู้ถึงสิ่งที่ทำให้คุณผัดผ่อนไปเรื่อยๆ และกำจัดมันทิ้งไป เช่น หากเป็นคนติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ ขอให้ย้ายไปทำงานในห้องที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ หรือหากกำลังติดเล่นไลน์ ขอให้ปิดโทรศัพท์มือถือขณะทำงาน
           4. ต้องตรงต่อเวลา ถ้าตั้งใจว่า จะเริ่มต้นทำงานเวลา 9 โมงเช้า ก็ต้องทำตามนั้น พยายามอย่าเลื่อนเวลาออกไป
           5. กำหนดเวลาทำงานและหยุดพัก มันเป็นเรื่องปกติที่การทำงานต้องมีช่วงเวลาหยุดพักบ้าง แต่ควรกำหนดไว้ เช่น ตั้งกฎว่า เมื่อทำงานครบทุก 50 นาที จะหยุดพัก 10 นาที
           6. มีวินัย หากเปรียบความขี้เกียจคือโรคแล้วละก็ ต้องบอกว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงหนทางเดียวที่จะกำจัดได้ คือ ขอให้มีความตั้งใจที่จะทำงานให้สำเร็จ และมีวินัยต่อตัวเอง

ทำไมจึงขี้เกียจ?

เทคโนโลยีปัจจุบัน มีส่วนทำให้เราขี้เกียจไหม?

         ทำให้เราสะดวกมากขึ้นแต่จะขี้เกียจหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ถ้าเราดูสัตว์ที่หากินเองตามธรรมชาติไม่ใช่สัตว์เลี้ยง สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติทั้งวันอยู่กับการหาอาหาร มนุษย์ในยุคโบราณที่ยังเป็นลักษณะเร่ร่อนอยู่ก็คล้ายๆสัตว์ อาศัยอยู่ในถ้ำ ถือตะบองตระเวนไปหาผลไม้ป่าหรือล่าสัตว์มาบ้างเพื่อเป็นอาหารซึ่งก็วุ่นอยู่กับการหาอาหาร
การปฏิวัติครั้งใหญ่ของมนุษย์คือการปฏิวัติเกษตรกรรม เราเคยได้ยินแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่การปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่กว่าคือเกษตรกรรม เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักการเพาะปลูก จะกินก็ไม่ต้องไปเดินหาในป่าแต่ปลูกสวนผลไม้ ปลูกข้าวซึ่งได้มากกว่าการหาเก็บ เมื่อเกิดการปฏิวัติทำให้มนุษย์ผลิตอาหารได้คราวละมากๆ  มากจนเพียงพอที่จะกินแล้วเหลือทำให้มีคนบางกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องผลิต  เพราะถ้าทุกคนทำนาทั้งหมดทำให้ข้าวเหลือกิน บางส่วนจึงแยกมาทำไร่สวนผลไม้ที่เหลือก็ไปเป็นช่างฝีมือ ประดิษฐ์ประดอยข้างของเครื่องใช้ ทอผ้าและต่างๆ
            มีชนชั้นปกครองอยู่ลงไปเป็นเมืองเกิดขึ้น บางคนก็ใช้เวลาทั้งวันในการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนและสร้างวรรณกรรมซึ่งถ้าเป็นยุคเร่ร่อนไม่สามารถทำได้เพราะทุกคนต้องตั้งหน้าตั้งตาหาอาหารเท่านั้น  แต่เมื่อมีการปฏิวัติทางการเกษตรเกิดขึ้นจึงสามารถกันคนส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่ต้องทำงานอย่างคนอื่น  แต่มาใช้สร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ในยุคของเกษตรกรรมอารยธรรมจึงเกิดขึ้นอย่างจริงจัง
           เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เป็นการต่อยอด ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีการพัฒนาสิ่งต่างๆเพื่อให้สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิมทำให้ชีวิตง่ายขึ้น  ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้เราขี้เกียจหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เวลาทำอะไร  คนในยุคนี้ยุ่งกว่ายุคก่อนมากเพราะต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารให้ทัน  เพื่อแข่งขันกันถ้าไม่ตามเดี๋ยวไม่ทันสู้คนอื่นไม่ได้
           เทคโนโลยีความสะดวกทำให้ชีวิตเราเองง่ายขึ้นแต่เมื่อง่ายขึ้นไม่ใช่คนจะขี้เกียจขึ้นแต่กลายเป็นยั่งกว่าด้วยซ้ำ  จะขี้เกียจหรือขยันขึ้นอยู่กับนิสัยของคนๆนั้นว่าจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร  แต่ถ้าใช้เวลาที่เหลือที่ประหยัดได้ไปทำกิจที่เป้นประโยชน์อย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความรู้หรือทำงานเพิ่มเติมก็ตาม เป้นการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธี ทำให้เราเองใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 


ที่มา : (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย ประกายรุ้ง) (ที่มา : การสนทนาในรถตู้ระหว่างเดินทาง อ.สุรพล ธรรมร่มดี/อ.เอกรัตน์ รวยรวย/อ.โชติกา วิริยะรัตนศักดิ์)
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/536768

 
 
   
 
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2557
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน