ความอดทนพากเพียรคือกุญแจสู่ความสำเร็จ
|
หนทางที่จะนำพาบุคคลไปสู่ความสำเร็จ มีกุญแจอยู่หลายดอก แต่มีกุญแจดอกหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ บุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จไม่ว่าอาชีพใด จะต้องมีกุญแจดอกนี้ กุญแจดอกนี้ก็คือ ความอดทนพากเพียร
บุคคลที่ประสบความสำเร็จ มักมีความอดทนพากเพียรอยู่ในหัวใจ อยู่ในจิตวิญญาณ ดังตัวอย่างเช่น
- โทมัสอัลวา เอดิสัน เคยมีคนไปถามว่า อัจฉริยะเกิดจากอะไร เขาตอบกลับไปโดยไม่คิดว่า อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ อีก 99 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากความอดทนพากเพียร ทำไม่หยุด
- ยอร์จ เบอร์นาร์ดชอว์ นักประพันธ์บทละครที่มีชื่อเสียงชาวไอริส กล่าวไว้ว่า เมื่อตอนหนุ่มๆ เขาสังเกตว่า9 ใน 10 ของสิ่งที่ผมทำไปนั้นเรียกได้ว่าล้มเหลว แต่ผมไม่ยอมแพ้ ฉะนั้นผมจึงได้อดทนพากเพียรขึ้นไปอีก 10 เท่า
-ซิเซโร กว่าจะเป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่ของกรุงโรม เขาต้องอดทนพากเพียรโดยการพูดต่อหน้าเพื่อนๆหรือพูดตามชายหาดทะเล ทุกวันเป็นเวลาถึง 30 ปี กว่าที่จะมีคนยอมรับว่าเขาเป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก
- เซอร์ ไอแซคนิวตัน กว่าจะค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วงของโลก เขาต้องอดทนพากเพียรทำงาน เขาไม่เคยนอนก่อนตีสองเลย ในการทำงานของเขาเพื่อที่จะค้นพบกฎที่ยิ่งใหญ่เพื่อมอบให้แก่มนุษยชาติ
ความอดทนพากเพียร มักขื่นขม แต่ผลของมันมักหวานชื่นเสมอ คนที่มีความอดทนพากเพียรมักเป็นคนที่มีความขยันขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน ซึ่งการปลูกฝังความขยันขันแข็งเราสามารถปลูกฝังได้ดังต่อไปนี้
|
1.ฝืนใจทำงานในระยะแรก งานบางอย่างเป็นสิ่งใหม่และยาก จนบางคนไม่อยากที่จะลงมือทำ แต่คนที่ขยันขันแข็ง เขามักที่จะควบคุมตนเองและฝืนใจที่จะทำงานนั้น
2.ทำอย่างสม่ำเสมอ คนที่มีความขยันขันแข็งมักเป็นคนที่ทำอะไร สม่ำเสมอ เขาจะไม่ทำแล้วหยุด เขาจะทำงานด้วยความสม่ำเสมอ ดังคำว่าเปรียบเทียบว่า น้ำหยดลงหินทุกวันหินยังกร่อน ที่หินกร่อนไม่ใช่เพราะอนุภาพของหยดน้ำที่แรงหรือมีพลัง แต่ก็ด้วยความสม่ำเสมอของหยดน้ำต่างหาก
3.มีเป้าหมายในการทำงาน คนที่มีเป้าหมายในการทำงานมักจะทำงานด้วยความขยันขันแข็ง กระตือรือร้น ในการทำงาน ดังนั้น การตั้งเป้าหมายในการทำงานจึงมีความสำคัญ
4.รู้จักความสำคัญของเวลา คนที่มีความขยันมักเป็นคนที่รู้จักความสำคัญของเวลา เขามักจะบริหารเวลาเป็น อีกทั้งรู้จักที่จะจัดลำดับความสำคัญของงานที่ตนเองได้ทำลงไป
5.ปลูกความรักในงานที่ตนเองทำ คนที่ขยันมักที่จะมีความสนใจ ความรัก ความชอบในงานที่ตนเองทำ เขาถึงได้ทำงานนั้นด้วยความสนใจ อีกทั้งทุ่มเทในการทำงานนั้นๆ
6.ฝึกนิสัย ทำทันที(ททท.) สิ่งใดที่เราสามารถทำได้ ก็ให้ลงมือทำทันทีไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง
7.ฝึกความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง ในการทำงาน ไม่ควรทำงานด้วยความเฉื่อยชา แต่หากว่าเหน็ดเหนื่อยก็ให้หยุดพัก แล้วจึงเริ่มทำงานใหม่ การหยุดพักไม่ได้หมายถึงการหยุดพักก็ด้วยเพราะความขี้เกียจ
8.ฝึกหลักคำสอน อิทธิบาท 4 มาใช้ คือ ฉันทะ มีความรักในงานที่ตนเองทำ , วิริยะ มีความพากเพียรในการทำงาน , จิตตะ มีความเอาใจใส่ในงานที่ตนเองทำ และวิมังสา คือ มีความใคร่ครวญในงานที่ตนเองได้ทำลงไป
ดังนั้น หากท่านเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องการประสบความสำเร็จ ท่านควรฝึกความอดทน ฝึกความพากเพียร และฝึกความขยันขันแข็ง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกุญแจที่จะนำพาท่านไปสู่ความสำเร็จ เพราะบุคคลที่ยิ่งใหญ่ บุคคลคนที่สำคัญของโลก ที่มีผลงานมากมายก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงกาย แรงความคิดและแรงใจ ด้วยแท้
ที่มา : โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ www.drsuthichai.com
|