|
|
สรุปองค์ความรู้
|
ขยัน คือ ความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ อดทน ไม่ท้อถอยเมื่อพบอุปสรรค ความขยันต้องควบคู่กับการใช้ปัญญาแก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย เด็กที่มีความขยัน คือ เด็กที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อ เนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร เป็นคนสู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี 2530 ความว่า เด็กๆนอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยัน อดทน พึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุข ความเจริญ ทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ
ความขยันจะทำให้เด็กเป็นที่รักของคนอื่น เด็กขยันจะเป็นผู้สร้างประโยชน์ได้มาก ถ้าไม่ขยัน สิ่งที่ควรจะได้จากชีวิตจะไม่เกิด ทั้งๆที่ฉลาด รู้ เข้าใจทุกอย่าง ถ้าเกียจคร้านก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงควรมุ่งสอนเด็กให้มีความขยัน ทำงานอย่างมีความสุข มีความตั้งอกตั้งใจทำจริง เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ และอดทนต่ออุปสรรคผู้ใหญ่ควรปลูกฝังให้เด็กเห็นว่า ไม่มีใครเคยประสบความสำเร็จ ทั้งที่ยังเกียจคร้าน ความขี้เกียจ ความเกียจคร้านเป็นสิ่งน่ากลัว เป็นมลทินชีวิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเอาชนะด้วยวิริยะ ความมีจิตริเริ่ม ไม่ปล่อยตามสบาย เลื่อนลอยไปเรื่อยๆ แต่เด็กๆจะต้องมีจิตริเริ่มที่จะทำสิ่งที่ควรทำ พยายาม และมีความอดทนต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานนั้นๆ เด็กทุกคนจึงควรได้รับอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักงดเว้น รู้จักควบคุม รู้จักเอาชนะใจตัวเอง ฝึกให้เป็นผู้มีสติ มีความสันโดษ มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความขยัน หลีกละความชั่ว ประกอบความดี ไม่ย่อท้อ ไม่ละเลยทอดทิ้งธุระหน้าที่ มีจิตใจที่รักการสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง มีการพัฒนาในทุกๆด้าน และมีความมุ่งมั่นที่จะชนะตัวเอง ที่จะทำตัวเองให้ดีที่สุด
|
ฉันทะทำให้ขยัน ตัณหาทำให้ขี้เกียจ การปลูกฝังนิสัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และความมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรทำกิจต่างๆให้สำเร็จ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็ก ผู้ที่ต้องการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะด้านการศึกษาหรืออาชีพการงานก็ตาม ควรปฏิบัติตามหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการนั้นๆ ที่เรียกว่า อิทธิบาท 4อิทธิบาท 4 : ทางแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาความขยัน วิริยะ หรือความเพียร เป็นข้อหนึ่งที่สืบมาจากฉันทะ ในอิทธิบาท 4 ฉันทะนำไปสู่วิริยะ วิริยะนำไปสู่จิตตะ และจิตตะนำไปสู่วิมังสาฉันทะ คือ มีใจรัก ความพอใจรักใคร่ในสิ่งที่ทำ รักการทำงาน รักเป้าหมาย รักจุดหมายที่ดีงาม รักวัตถุประสงค์ของงานนั้น พอใจจะทำสิ่งนั้น และทำด้วยใจรัก ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีแห่งกิจหรืองานที่ทำ มิใช่สักว่าทำพอให้เสร็จ ๆ หรือเพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือผลกำไร วิริยะ คือ พากเพียรทำ ความเพียร ความพยายาม ขยัน หมั่นประกอบ หมั่นกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อด ทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะสำเร็จ จิตตะ คือ เอาจิตฝักใฝ่ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาใจใส่ ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ใช้ความคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ เสมอๆ ทำกิจหรืองานนั้นอย่างอุทิศตัว อุทิศใจ และ วิมังสา คือ ใช้ปัญญาสอบสวน หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อบกพร่องขัด ข้องในสิ่งที่ทำ โดยรู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เพื่อจัดการและดำเนินงานนั้นให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป จำง่ายๆว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน
|
|
|