Ran khaa ya
   
 
  สรุปองค์ความรู้
                   1. กีฬาพื้นเมืองไทยช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทางด้านกีฬาไทยของชาติ กีฬาพื้นเมืองไทย จัดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นและเข้าใจชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่สามารถซึมซับรับได้จากการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทย โดยกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ผ่านการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทย ( Socialization Via Thai Traditional Sport ) ตัวอย่างเช่นการเล่นวัวต่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ใช้ผู้เล่น 3 คน คนหนึ่งเป็นวัว คลาน 2 มือ 2 เข่า อีก 2 คนนั่งห้อยอยู่บนหลังคนเป็นวัว ไขว้ขา มือจับเท้าซึ่งกันและกัน ลักษณะเหมือนกับต่างใส่ของบนหลังวัว เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นิยมนำสัมภาระสิ่งของใส่ตะกร้า 2 ใบ วางพาดบนหลังวัว ขนของเดินทางไป เป็นต้น

                    2. กีฬาพื้นเมืองไทย ให้คุณค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากีฬาสากล จากงานวิจัยเรื่อง “กีฬาพื้นเมืองไทย : ศึกษาและวิเคราะห์คุณค่าทางด้านพลศึกษา” ซึ่งได้รับทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภชจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้เขียนเป็นหัวหน้าคณะผู้ทำวิจัย มีเนื้อหารวม 739 หน้านั้น ผลการวิจัยพบว่า จากจำนวนกีฬาพื้นเมืองไทย ที่ทำการศึกษาวิเคราะห์ทั้งสิ้น 196 ชนิดกีฬา แต่ละชนิดกีฬาต่างก็มีคุณค่าทางด้านพลศึกษา อันได้แก่ คุณค่าทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญาครบถ้วน มากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะและประเภทกีฬา ( ชัชชัย โกมารทัต และคณะ, 2527 ) ซึ่งคุณค่าทางพลศึกษาดังกล่าวไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากีฬาสากลที่นิยมเล่นกันในปัจจุบันแต่อย่างไร

                    ตัวอย่างเช่น การเล่นแนดข้ามส้าวของภาคเหนือ ซึ่งเป็นการวิ่งไล่จับกันรอบๆลำไม่ไผ่ ต้องมีการวิ่งไล่กันรวดเร็ว มีการวิ่งหนีหลบหลีก เปลี่ยนทิศทางอยู่ตลอดเวลา หากเล่นกันต่อเนื่องนานๆ ประมาณ 30 – 40 นาที คุณค่าที่ได้ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา มิได้แตกต่างจากการเล่นวิ่งแข่ง เล่นบาสเกตบอล หรือเล่นฟุตบอลแต่อย่างใด เหนือกว่านั้น กีฬาพื้นเมืองไทยยังให้คุณค่าทางด้านการสืบทอดคุณลักษณะที่ดีของความเป็นไทยที่สามารถได้รับการขัดเกลาทางสังคมจากกีฬาพื้นเมืองไทยด้วย ซึ่งคุณค่าประการหลังนี้กีฬาสากลไม่มีให้
                                                    

                3. กีฬาพื้นเมืองไทย ช่วยส่งเสริมและสร้างคุณลักษณะสนุกสนาน สมัครสามัคคี และเข้าใจดีต่อกันได้อย่างแท้จริง เนื่องจากลักษณะการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทย มิได้มุ่งเน้นความเป็นเลิศเชิงทักษะกีฬามาก อย่างเช่นกีฬาสากลทั่วไป โอกาสในการปะทะ เกิดปัญหา หรือข้อโต้แย้งจึงแทบจะไม่มี แม้จะเป็นการแข่งขัน แต่รูปแบบและลักษณะของการแข่งขันในกีฬาพื้นเมืองไทย จะแฝงด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม วิถีชีวิตความเป็นไทย สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในท้องถิ่น มีความเป็นท้องถิ่นนิยมอยู่มาก ประกอบกับลักษณะการเล่นเชิงแข่งขันของกีฬาพื้นเมืองไทยในอดีต มักจะจัดให้มีกันในงานบุญ งานรื่นเริง งานนักขัตฤกษ์

                        ลักษณะของงานดังกล่าวจึงเป็นกรอบกำหนดที่ดีงาม สอดคล้องกับการทำความดี จึงมักมีแต่การแข่งขันเชิงสนุกสนาน สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มุ่งเน้นความสามัคคี ความเข้าใจดี ดังกล่าวมาแล้ว ตัวอย่างเช่น การเล่นช่วงชัย ช่วงขี่ของภาคกลาง แม้จะมีลักษณะของการแข่งขันแย่งลูกช่วงกัน แต่ก็มีลักษณะความสนุกสนาน สามัคคี ถ้อยทีถ้อยอาศัย แฝงในการเล่นตลอดเวลา หรือการเล่นมอญซ่อนผ้า แม้จะมีการซ่อน การวิ่งไล่กัน แต่ในเนื้อหาขอการเล่นจะมีเพลงร้องประกอบ มีลักษณะท้าทายให้สนุกสนานเชิงสมัครสมานสามัคคีตลอดเวลาเช่นกัน

                   4. กีฬาพื้นเมืองไทย สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศ ทุกวัย และเข้าร่วมได้จำนวนมาก ทั้งนี้ เพราะกีฬาพื้นเมืองไทยโดยทั่วไป จะเป็นลักษณะการเล่นง่ายๆ ไม่มีกฎกติกายุ่งยากสลับซับซ้อน ใครๆ เพศใด วัยใด ก็สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย เข้าร่วมการแข่งขันได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมทางด้านทักษะเทคนิคกีฬาเฉพาะอย่างเช่นกีฬาสากล อันจะทำให้ผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้จำนวนมาก จัดเป็นกิจกรรมเพื่อมวลชลมากกว่ากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ

เช่น กีฬาสากลทั่วไปที่นิยมเล่นกันโดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น แตกต่างกับกีฬาพื้นเมืองไทยที่จัดเป็นกีฬาเพื่อทุกคน หรือกีฬาเพื่อมวลชล ย่อมให้ประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมกว้างขวางมากกว่า ตัวอย่างเช่น การเล่นแย่งมะพร้าวทาน้ำมัน ขว้างลิง ตะกร้อขนไก่ ของภาคใต้ วิ่งเปี้ยวสวมกระสอบ เตย มัดฟืน ของภาคกลาง บักลี้ ขี้ม้าหลังโปก ดึงครก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และดันส้าว ย่ำเงา ขี่ม้าชิงหมวก ของภาคเหนือ เป็นต้น กีฬาพื้นเมืองที่ยกเป็นตัวอย่างมาข้างต้นนี้ จัดเป็นกีฬาเพื่อมวลชลได้เป็นอย่างดี เพราะเล่นง่าย เล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย เล่นได้จำนวนคนมากๆ
                                                
 

                      5. กีฬาพื้นเมืองไทย จัดเป็นกีฬาเพื่อนันทนาการที่ดี ( Sport for Recreation ) เพราะเล่นง่าย เล่นแล้วสนุกสนาน คลายเครียด แม้จะเต็มที่และจริงจังกับการเล่น แต่ก็ไม่เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังเข้าร่วมเล่นได้จำนวนคนมากๆด้วย ตัวอย่างเช่น การเล่นก๊อบแก๊บ ย่ำเงา ของภาคเหนือ งอ หนอนซ้อน ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขี่ม้าตาบอด แข่งเรือ ของภาคกลาง ตีขอบกระด้ง มวยทะเล ของภาคใต้ เป็นต้น ในสมัยโบราณจึงนิยมจัดให้มีการเล่นและแข่งขันกีฬาพื้นเมืองไทยในงานเทศกาลต่างๆ อย่างเป็นประเพณีนิยมทีเดียว

                      6. กีฬาพื้นเมืองไทย เป็นกีฬาที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนใหญ่เก็บหรือดัดแปลงมาจากสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ลูกช่วง ก็ใช้เม็ดถั่ว เม็ดนุ่น หรือเม็ดผลไม้เล็กๆตากแห้ง นำมารวมกันจำนวนพอต้องการ แล้วใช้เศษผ้าห่อมัดผูก ทำเป็นลูกช่วง หรืออุปกรณ์การเล่นกาฟักไข่ ก็ใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ขนาดเท่าไข่นกมาเป็นไข่กา หรือการเล่นตีขอบกระด้ง ก็นำเอาขอบกระด้งฝัดข้าวที่เก่าๆ หรือขาดไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นอุปกรณ์การเล่น เป็นต้น

สนามเล่นก็ไม่ได้ต้องมีการลงทุนสร้าง ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรที่ต้องใช้เงินทองซื้อหามา เพราะใช้เล่นได้แทบทุกพื้นที่ที่ว่าง ใช้ไม้ขีดบนพื้นเป็นขอบเขตการเล่นตามต้องการก็ใช้ได้แล้ว เครื่องแต่งกายเฉพาะชนิดกีฬาก็ไม่มีความจำเป็น เพราะชุดชาวบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมักจะเป็นกางเกงขากว้างครึ่งแข้ง เสื้อม่อฮ่อม ก็สะดวกต่อการเคลื่อนไหวแล้ว เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเล่นเลย หรือใช้น้อยมาก เปรียบเทียบกับกีฬาสากลซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายมากแล้ว แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน
                                                       

                    7. กีฬาพื้นเมืองไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใจประเทศ ช่วยส่งเสริมการใช้สินค้าไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เข้าทำนอง “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยซื้อ ไทยขาย ไทยเล่นกีฬาพื้นเมืองไทย เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ” เป็นการช่วยลดดุลการค้า ไม่เสียเปรียบดุลการค้าต่างประเทศ เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง เพราะไม่มีกีฬาพื้นเมืองไทยชนิดใด ที่ต้องใช้อุปกรณ์การเล่นจากต่างประเทศ แม้แต่ชนิดเดียว กีฬาที่ต้องมีอุปกรณ์ประกอบการเล่นล้วนแต่ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ จัดทำเอง หรือซื้อหาได้ในท้องถิ่นทั้งนั้น เมื่อไม่มีรายจ่ายใดๆ เกี่ยวกับสินค้าที่มาจากต่างประเทศ กีฬาพื้นเมืองไทยจึงเป็นกีฬาที่ช่วยลดดุลการค้า ไม่เสียเปรียบดุลการค้าต่างประเทศอย่างแท้จริง

                    8. กีฬาพื้นเมืองไทย เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับกระแสพระดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการในการเล่นและแข่งขันกีฬาพื้นเมืองไทย จัดเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากทุกอย่างต่างก็ใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในท้องถิ่นรอบๆตัวเท่านั้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อหามาจากภายนอกแต่อย่างใด เป็นความพอดี เป็นความพอเพียงในแง่มุมของการออกกำลังกาย เล่นกีฬา อย่างเหมาะสม เป็นความพอเพียงกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่สามารถมีความสุข มีความสมดุลในชีวิตได้


 
 
   
 
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2557
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน