พระประธานองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดหัวดงใต้นี้เข้าใจว่าเป็นพุทธปฏิมาที่ใหญ่กว่าเพื่อนบรรดาที่มีอยู่ในแถบนี้สมัยนั้น และไม่มีใครทราบว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในพ.ศ.ใดเมื่อแรกเริ่มจะสร้างวัดหัวดงขึ้นใหม่ๆมีเพียงแต่คนเก่าคนแก่ในหมู่บ้านเล่ากันต่อมาว่า มีชาวมอญพวกหนึ่งมาตัดหวายในแถบนี้แล้วพบพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มป่าหวายมีต้นยางใหญ่ต้นหนี(บ่า)เบื้องซ้ายอยู่ ตรวจดูในบริเวณนั้นได้พบโคกวิหาร 2 แห่งห่างจากกันประมาณ 5 เส้นเศษ มีสัณฐานคล้ายกัน ขนาดก็เท่ากัน แต่ไม่มีพระประธานเหมือนโคกนี้ และยังมีพระเจดีย์อีก5-6แห่ง เป็นอิฐศิลาแลงทำเป็นฐาน แต่บัดนี้โคกวิหาร 2 แห่ง กับเจดีย์เหล่านั้นพังลงน้ำไปหมดแล้ว ส่วนวิหารที่หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่นั้น ยังไม่ได้รับความเสียหายอะไร จนถึงบัดนี้และเป็นวิหารโคกที่ไม่มีผนังมาแต่เดิม ต่อมามีพระสงฆ์องค์หนึ่งไม่ทราบชื่อและไม่ทราบว่ามาจากที่ใดได้ธุดงค์มาเห็นภูมิฐานทั้งพระประธานเก่าก็ทราบว่าเป็นวัดร้างมานานแล้ว เ เกิดความชอบใจจึงบูรณะเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาที่นั่นเป็นครั้งแรก วัดร้างนี้จึงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่นั้นมา แต่ชื่อเดิมของวัดคือ วัดบางทอง ต่อมาทางราชการได้แบ่งหมู่บ้านออกเป็น2หมู่บ้าน ตั้งชื่อว่าวัดหัวดงเหนือและวัดหัวดงใต้ และชาวบ้านแห่งนี้เขาก็เรียกพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารนี้ว่า หลวงพ่อโต วัดหัวดงใต้ที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้านใกล้เรือนเคียงในลุ่มน้ำปิง จึงมีผู้มาอธิษฐานกราบไหว้ ขอในสิ่งที่ตนต้องการและส่วนใหญ่จะสมประสงค์ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดี
|
หลวงพ่อโตวัดหัวดงใต้ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหัวดงใต้ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สร้างด้วยปูน หน้าตักกว้าง ๓ เมตร สูง ๔.๓๐ เมตร ปางมารวิชัย หลวงพ่อโตได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ จากการบูรณะได้พบอิฐโบราณก้อนใหญ่อยู่ในองค์พระ และมีไม้สักเป็นโครงสร้างหลักภายใน ไม้ดังกล่าวได้ถูกปลวกกัดกินจนผุพังไปส่วนหนึ่ง ส่วนอิฐโบราณที่เจอในองค์พระ มีลักษณะคล้ายอิฐในซากปรักหักพังในจังหวัดกำแพงเพชร จึงสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างในยุคสมัยเดียวกัน
สถานที่แห่งนี้นับเป็นสถานที่ที่น่ามาท่องเที่ยวเพื่อที่จะได้มากราบสักการบูชาหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านชาวหัวดงมาช้านาน