Ran khaa ya
   
 
 

น้ำอบ

    ความเป็นมาของ "น้ำอบไทย"
ในสังคมไทยสมัยโบราณ การใช้เครื่องหอมได้สอดแทรกอยู่ในประเพณีต่างๆ ควบคู่กับการดำเนินชีวิต เช่น ประเพณีการโกนผมไฟ  พิธีสรงน้ำพระ  การรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์  ตลอดถึงการรดน้ำศพ เครื่องหอมมีหลายชนิด เช่น น้ำอบ น้ำปรุง สีผึ้ง แป้งร่ำ ดินสอพอง ฯลฯ แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ น้ำอบ ใช้เป็นเครื่องประทินผิว หลักฐานการใช้น้ำอบไทยหรือเครื่องหอมแบบไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และต่อเนื่องมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) ทรงโปรดปราณการใช้น้ำอบ น้ำปรุงมาก คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงความนิยมในการใช้เครื่องประทินผิวของคนในสมัยนั้น ความนิยมต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสมัยก่อน มักจะออกมาจากในพระราชสำนัก สู่สามัญชน การใช้เครื่องหอมก็เช่นเดียวกัน

   “น้ำอบ” เป็นคำที่เรียกใช้เครื่องหอมที่เป็นน้ำ สมัยก่อน การทำน้ำอบจะใช้ดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกชมนาด ฯลฯ เนื้อไม้ ยางไม้ เช่น ผิวมะกรูด แก่นไม้จันทร์ เปลือกชลูด โดยนำมาอบร่ำในน้ำให้มีกลิ่นหอมเย็นเป็นธรรมชาติ  ซึ่งการทำน้ำอบแบบนี้เป็นการทำในปริมาณไม่มากนัก ทำใช้กันในครัวเรื่อน และจะทำใช้กันวันต่อวัน  เพราะถ้าทิ้งไว้นานกลิ่นของดอกไม้สดจะเปลี่ยน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำเอาหัวน้ำหอมจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับเครื่องหอมโบราณของไทย ทำให้เกิดลักษณะของการทำน้ำอบเป็น 2 อย่าง คือ น้ำอบไทย กับน้ำอบฝรั่ง ทำให้ค่านิยมของการใช้น้ำอบไทยลดลง

   “น้ำอบไทย” คือน้ำที่อบด้วยควันกำยาน หรือเทียนอบ (ทำจากผิวมะกรูด กำยาน น้ำตาลแดง ขี้ผึ้ง และจันทร์เทศ) และน้ำมาปรุงด้วยเครื่องหอม มีสักษระเป็นน้ำใสสีเหลืองอ่อนๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากน้ำหอม หรือน้ำอบฝรั่ง ทั้งลักษณะของกลิ่นและขบวนการผลิต ปัจจุบันความนิยมของคนรุ่นใหม่ต่อน้ำอบไทยในลักษณะของเครื่องประทินผิวหรือเครื่องสำอางลดน้อยลงมาก แต่น้ำอบไทยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับสังคมไทย เพราะจะนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส งานสงกรานต์ งานขึ้นปีใหม่ สรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และใช้ในงานศพ เป็นต้น ซึ่งการใช้น้ำอบไทยในงานประเพณีต่างๆ เป็นเครื่องแสดงถึงการสืบทอดวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทย

   กระบวนการผลิต
   วัตถุดิบและส่วนประกอบ
     ๑.ใบเตย         ๒.ชะลูด          ๓.แก่นจันทร์เทศ         ๔.น้ำตาลทรายแดง         ๕.น้ำตาลทรายขาว         ๖.ขี้ผึ้งแท้
   ๗.พิมเสน         ๘.ชะมดเช็ด         ๙.หญ้าฝรั่น         ๑๐.น้ำหอมกลิ่นกุหลาบ         ๑๑.ผิวมะกรูด         ๑๒.กำยาน

   ขั้นตอนการผลิต
   ๑. ต้มน้ำ นำน้ำสะอาด ใส่ชะลูด แก่นจันทร์ ต้มให้เดือด ใส่ใบเตย ต้มนานประมาณ ๑๕ นาที แล้วพักให้เย็น
   ๒. อบควันเทียน นำน้ำต้มมาอบควันเทียน อบ 5 ครั้ง ๆ ละ 15 นาที
   ๓. ร่ำน้ำอบ ผสมกำยานป่น น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว แก่นจันทร์เทศ ขี้ผึ้งแท้อย่างดีขูด ผิวมะกรูดขูด ให้เข้ากันพักไว้ นำตะคันเผาไฟให้ร้อนจัด แล้ววางบนทวนในหม้อน้ำที่อบควันเทียนแล้ว ตักส่วนผสมใส่ตะคันอบร่ำ ๓ – ๕ นาที อบ ๕ ครั้ง
   ๔. ปรังน้ำอบไทย นำแป้งหินร่ำให้ละเอียด ค่อย ๆ ผสมกลิ่นหอมให้เข้าเนื้อแป้ง บดให้น้ำหอมเข้าเนื้อแป้งทั่วกัน ตักน้ำอบสมทีละน้อย กวนให้แป้งกับน้ำละลายเข้ากัน อย่าให้มีน้ำมันลอยผิวหน้าน้ำอบ ผสมน้ำอบและแป้งทั้งหมดเข้าด้วยกัน
๕. บรรจุลงขวด เก็บไว้ในห้องที่มีอากาศไม่ร้อนจัด

   เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

   - ทุกขั้นตอนการผลิตต้องทำอย่างละเอียด ครบตามสูตร และพิถีพิถันตามขั้นตอนทุกอย่าง
   - ระวังอย่าให้มีน้ำมันลอยผิวหน้าน้ำอบ

ที่มา :http://ja-jp.facebook.com/note.php?note_id=122331674449600

 
 
   
 
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2558
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน