เฮือน (เรือน) ไทยดำจะมีลักษณะที่โดดเด่น
|
เอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน เพื่อป้องกันลม ฝนอากาศที่หนาวเย็น(ในอดีตชุมชนไทยดำตั้งอยู่ในแถบอากาศหนาว) ตัวเรือนยกใต้ถุนสูงเพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน ยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า ขอกุด พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ทุบเป็นชิ้นๆแผ่ออกติดกัน ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแบ่งส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่บูชาผีเรือน เรียกว่า กะล้อห่อง มีชานแดดยื่นออกจากตัวบ้าน มีบันไดขึ้นเรือน 2 ทาง มียุ้งข้าวที่สร้างเป็นเรือนยกเสาสูงไว้ข้างที่พักอาศัย คนไทดำจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆกัน
ต่อมารูปแบบเรือนไทดำได้ เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย หญ้าคาที่นำมาทำวัสดุมุงหลังคาหายาก ไม่คงทน ทั้งยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ เนื่องจากบ้านไทดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่นๆได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุที่ใช้จึงเปลี่ยนเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคาเป็นสังกะสี มีการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอย
ปัจจุบัน เรือนไทดำมีลักษณะผสม ผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่
- บ้างก็ใช้วัสดุผสมของปูนกับไม้บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยดำอยู่เลย แต่ไม่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยของคนไทยดำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านจะมีห้องสำหรับบูชาผีเรือน นับเป็นความน่าเสียดายว่าลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไทดำ แท้ๆกำลังจะสูญหายแม้ที่ตำบลหนองปรงจะมีเรือนไทยดำแบบดั้งเดิมอยู่ แต่ก็เป็นเพียงเรือนที่สร้างจำลองไม่มีผู้อยู่อาศัย
|