ชาวไทดำ จังหวัดกำแพงเพชร
นับเป็นเมืองเก่าที่มีความเป็นมาสืบสานวัฒนธรรมรักษา ภูมิปัญญา และมีกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากชาวไทยแล้วยังมีชนชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ กลุ่มชนเชื้อสายไทดำ เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนพื้นเมืองเลย โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนกัน อยู่ในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยนานมาแล้ว สำหรับความเป็นมาของหมู่บ้านไทดำ นับตั้งแต่สมัยที่มีการแย่งชิงดินแดนแคว้นต่างๆ ทางตอนเหนือของประเทศลาว ซึ่งเรียกว่าแคว้น 12 จุไทย ชาวไทดำ อพยพมาจากแคว้นพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน เข้ามาในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2417
เนื่องจากมีเหตุการณ์ พวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน ทางหลวงพระบาง ขอให้ฝ่ายไทยส่งกองทัพไปช่วยเหลือ โดยมีพระยาภูธราภัย เป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปปราบฮ่อ ผลการปราบฮ่อครั้งนั้นไทยชนะ เมื่อเหตุการณ์สงบไทยได้ใช้นโยบายอพยพผู้คนจากแคว้นพวน เข้ามายังประเทศไทยด้วย ชาวไทดำถูกกวาดต้อนมาถึงกรุงเทพฯ โดยทำมาหากินตามที่ต่างๆ เช่น เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และพิษณุโลก ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านหมี่ คลองสนามแจง จังหวัดลพบุรี
หลังจากนั้นประมาณ 8 ปี เจ้าเมืองบริขันธ์ มาทูลขอราษฎรกลับไปยังเมืองเชียงขวางตามเดิม โดยเริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำกอใหญ่ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็เข้าครอบครองดินแดนล้านช้าง และได้ขอให้ไทยส่งคนอพยพคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ชาวไทยดำบางส่วนเห็นว่าต้องบุกป่าฝ่าดง จึงขอหยุดตั้งหลักแหล่งที่บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยส่วนชาวไทดำ อีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์ มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ชาวไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงย้อนกลับมาตั้งหมู่บ้านที่ตาดซ้อ ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อยู่ได้ระยะหนึ่ง จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเบน แต่ภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การดำรงชีพ จึงได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งถาวรที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ด้วยกัน เพราะสภาพเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงมีป่าเขาลำเนาไพรคล้ายถิ่นฐานเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยมีจำนวนครัวเรือนในขณะนั้น 15 หลัง ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในทางการเกษตรกรรม
|
นอกจากนี้ยังมีชาวไทดำ หรือ ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ซึ่งได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยอพยพมาจากเมืองแถง ประเทศเวียตนาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ลาวโซ่งล่องเรือมาอยู่ที่ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยลาวโซ่งยังได้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ใน จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย
คำว่า โซ่ง มีหลักฐานปรากฏในหนังสือ ประวัติผู้ไทย หรือ ชาวผู้ไทย ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองแถน หรือเมืองแถง ให้ไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี รวม 3 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อ พ.ศ.2322 (บางหลักฐานอ้าง พ.ศ.2321) ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 (หน้า 38-40) ความว่า ในจุลศักราช 1141 ปีกุน เอกศก (พ.ศ.2322) พระยาเดโช(แทน) พระยาแสนท้องฟ้า ผู้น้อง อพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองญวน กองทัพสมเด็จพระมหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ตีเมืองล้านช้างได้แล้วให้เก็บสิ่งของปืนใหญ่น้อย ครอบครับเข้ามา ณ เมืองพันพร้าว และให้กองทัพหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ ญวนเรียกว่าเมืองซือหงี เมืองม่วย สองเมืองนี้เป็นลาวทรงดำ (ผู้ไทยดำ) อยู่ริมเขตแดนเมืองญวน ได้ครอบครัวลาวทรงดำลงมาเป็นอันมาก พาครอบครัวลาวเวียง ลาวทรงดำลงมาถึงกรุงในเดือนยี่ ปีกุน เอกศก(พ.ศ.2322) นั้น ลาวทรงดำนั้นโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เพชรบุรี ลาวเวียง ลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออกก็โปรดให้ไปตั้งบ้านเมืองอยู่สระบุรี เมืองราชบุรีบ้าง ตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง อยู่เมืองจันทบุรีบ้าง ก็มีเชื้อสายมาจนทุกวันนี้
ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ.2379และพ.ศ.2381 ทั้งสองคราวนี้มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง (หน้า 253-254) ความว่า ครั้งศักราช 1197 ปีมะแม สัปตศก (พ.ศ.2378) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(สมบุญ)เป็นแม่ทัพคุมพลทหารยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองหลวงพระบางแล้วแต่งให้เจ้าราชไภยอุปราชท้าวพระยา คุมกองทัพขึ้นไปตีเมืองพวน แต่งให้เจ้าอุ่นแก้วน้องเจ้าอุปราช เจ้าสัญไชยบุตรเจ้าอุปราชนาคที่ 7 เจ้าแก่นคำบุตรเจ้าหอหน้า อภัยที่ 2 เจ้าคำปานบุตรเจ้าม้งที่ 1 ท้าวพระยา ยกกองทัพขึ้นตีเมืองแถน จับได้ลาวพวน ลาวทรงดำ (ผู้ไทยดำ) ส่งลงมากรุงเทพฯ เจ้าเมืองธาตุ เจ้าเมืองหลวงพระบางครองเมืองได้ 20 ปี รวมอายุ 64 ปี ก็ถึงแก่กรรม ศักราช 1198 ปีวอก อัฐศก (พ.ศ.2379) เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ มีศุภอักษรแต่งให้เจ้าอุ่นแก้วคุมดอกไม้เงินดอกไม้ทองลงมา ณ กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า เจ้าอุปราชหรือเจ้าราชวงศ์ คงจะตั้งเป็นเจ้าเมืองหลวงพระบางคนหนึ่ง จึงโปรดตั้งเจ้าอุ่นแก้ว บุตรเจ้านครหลวงพระบางอนุรุธที่ 5 เป็นเจ้าน้องอุปราชราชไภย เป็นที่ราชวงศ์ ขึ้นไปรักษาบ้านเมือง ครั้นเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ ปลงศพเจ้าเมืองหลวงพระบางเสร็จแล้ว พวกเมืองหึม เมืองคอย เมืองควร ตั้งขัดแข็งต่อเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ แต่งให้ท้าวพระยาคุมกองทัพขึ้นไปตีจับได้ลาวทรงดำ (ผู้ไทยดำ) แต่งให้พระยาศรีมหานาม คุมลงมา ณ กรุงเทพ ฯ ครั้งหนึ่ง ศักราช 1200 ปีจอ สัมฤทธิศก (พ.ศ.2381) เจ้าอุปราชเจ้าราชวงศ์มีความวิวาทกันลงมากรุงเทพ ฯ อีกครั้งหนึ่ง ลาวทรงดำ (ผู้ไทยดำ) ที่ถูกกวาดต้อนอพยพลงมาที่กรุงเทพ ฯ ทั้งสามคราวดังกล่าวนี้ ได้พบหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี ซึ่งเดิมได้มีการอพยพผู้ไทยดำไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ก่อนแล้ว ผู้ไทยดำ ที่เมืองเพชรบุรี เรียกว่า ลาวซ่ง
- โดยถวิล เกษรราช
|