Ran khaa ya
   
 
 

พัดสาน เป็นของใช้สำหรับโบกเตาไฟของคนไทยในสมัยก่อน หรือใช้สำหรับโบกพัดร่างกายให้หายคลายจากความร้อนได้ สามารถที่จะนำติดตัวไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก วัสดุที่ใช้พัดสานเป็นผลผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติในท้องถิ่นคือ ไม้ไผ่
              การสานพัด ผู้สานนิยมสานเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ มุ่งเน้นประโยชน์การใช้งาน มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่น พัดสานห้าเหลี่ยมเหมาะสำหรับโพกพัดเตาไฟ พัดยกลายดอกสานเป็นลวดลายต่าง ๆ พัดละเอียดรูปใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ และรูปตาลปัตร
              พัดสานบ้านแพรกเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่าที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวอำเภอบ้านแพรกริเริ่มการสานพัดมาเป็นเวลานับ ๔๐ ปี มีการประยุกต์ปรับปรุงรูปแบบตลอดเวลา การสานพัดเป็นอาชีพเสริมทำรายได้ดีภายในครัวเรือน ชาวบ้านจะสานพัดในช่วงว่างเว้นจากการทำนา เป็นสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอำเภอบ้านแพรก พัดสายจึงกลายมาเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง และได้รับการยกย่องให้เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอบ้านแพรก ดังปรากฏในคำขวัญที่ว่า 
              “หลวงพ่อเขียว หลวงพ่อขาว หลวงพ่อเภาคู่บ้าน พัดสานคู่เมือง พิพิธภัณฑ์ลือเลื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม เลิศล้ำหัตถศิลป์ ดินแดนถิ่นลิเก บ้านเกิดของหอมหวล นาคศิริ ราชาลิเกแห่งเมืองไทย”

1. ไม้ไผ่สีสุก
2. มีดจักตอก
3. สีย้อมผ้า
4. กระทะ
5. เตาถ่าน
6. แบบพิมพ์รูปพัด
7. ดินสอ
8. กรรไกร
9. กิ๊บติดผมสีดำ 
10. เป็กตอกเย็บพัด
11. ฆ้อน
12. เลื่อย
13. สว่านเจาะด้ามพัด
14. จักรเย็บพัด
15. ด้าย
16. น้ำมันสน
17. เกลือ
18. สารส้ม
19. ฟืน
20. ไม้ขีดไฟ
21. กะละมัง
22. แปรงทาสี
23. ถ้วย
24. ผ้าตาดทอง
25. ผ้าลูกไม้
26. ผ้าดิบ
วิธีการทำพัดสาน
              การคัดเลือกไม้ ขั้นตอนแรกคือการเลือกไม้ไผ่ที่จะนำมาสานพัด ไม้ไผ่ที่นิยมนำมาจักตอกสานพัดคือไผ่สีสุก การคัดเลือกไม้จะต้องเป็นไม้ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เรียกว่า “ไม้มันปลากด” เนื้อไม้จะขาวเป็นมัน เมื่อนำไปย้อมสี สีจะเป็นเงาสดใส ไม้ที่ไม่นิยมนำมาสานพัดคือ ไม้อ่อน เพราะไม้อ่อนมอดจะกิน เมื่อแห้งเส้นตอกจะแตกเพราะเนื้อไม้หดตัว สำหรับไม้แก่สีของเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อย้อมสีสีจะไม่สดใส และเนื้อไม้ที่แก่จะกรอบแตกหักง่าย ไม้ที่เป็นตามดเนื้อไม้จะดำ ผู้สานจะคัดเลือกไม้ที่มีลำสมบูรณ์ปล้องยาว ปลายลำหรือยอดไม่ด้วนเพราะ ไม้ที่ยอดหรือปลายลำด้วนเนื้อไม้จะหยาบไม่สมบูรณ์
 การจัดตอก นำไม้ที่คัดเลือกได้มาตัดเป็นท่อนด้วยเลื่อยคมละเอียด ถ้าเป็นพัดเล็กใช้ปล้องยาวประมาณ ๒๐–๓๐ เซนติเมตร และพัดใหญ่ใช้ปล้องยาวประมาณ ๓๐–๕๐ เซนติเมตร นำมาจักตอกเอาข้อไม้ออกให้หมด การจักตอกทำพัดละเอียด เส้นตอกจะต้องมีขนาดเล็ก เป็นพิเศษ มีความกว้างประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตร ถ้าเป็นพัดธรรมดาหรือพัดหยาบขนาดเส้นตอก
จะใหญ่ การจัดตอกจะต้องนำผิวและขี้ไม้ออกให้หมด ลอกตอกด้วยมีดตอก ลักษณะพิเศษของ มีดตอกเป็นมีดที่มีส่วนปลายแหลมคมด้ามยาว เวลาจักตอก ผู้จัดจะให้ด้ามมีดแนบลำตัว เพื่อบังคับให้เส้นตอกมีความบางเสมอกันตลอดทั้งเส้น การจักตอกนิยมจักครั้งละมาก ๆ นำตอกที่จักไปผึ่งลมหรือแดดให้แห้งก่อนนำไปย้อมสี
 การย้อมสี การย้อมสีต้องย้อมลงในภาชนะที่เตรียมไว้ และย้อมครั้งละมาก ๆ เป็นการประหยัดสี สลับสีตามต้องการ วิธีการย้อมต้องย้อมลงในน้ำเดือด จุ่มเส้นตอกให้ทั่วตลอดทั้งเส้น เมื่อย้อมแล้วนำเส้นตอกที่ย้อมไปล้างลงในน้ำเย็น เป็นการล้างสีที่ไม่ติดเนื้อไม้ออกก่อน จะเหลือเฉพาะสีที่ติดเนื้อไม้เท่านั้น นำไปผึ่งลมหรือแดดให้แห้งก่อนนำไปสานพัด
 


การสานพัด
 การสานพัดนิยมสานเป็นลวดลายต่าง ๆ ลายที่เป็นลายพื้นฐานของการสานพัดคือลายสองและลายสาม การสานพัดผู้สานจะใช้ความชำนาญและความสามารถพิเศษให้การสานยกดอกลวดลายปรับปรุงรูปแบบประยุกต์ลวดลายให้มีความสวยงามประณีต ไม่ใช่เฉพาะลายพื้นฐานเท่านั้น เช่น สานยกดอกเป็นลายเครือวัลย์ ลายดอกพิกุล ลายดอกเก้า ลายดอกจันทน์ ลายตาหมากรุก เป็นต้น 
ลักษณะเด่นของพัดสานบ้านแพรก คือ การประยุกต์รูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่น สานเป็นตัวหนังสือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สานเป็นรูปลาย ๑๒ ราศี รูปเจดีย์ ๓ องค์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ รูปพระเจ้าอู่ทอง รูปนกคู่ สานประยุกต์ลวดลายรูปแบบตามโอกาสและสถานที่ที่ต้องการ
   

 การตัดแบบพัดสาน เมื่อสานเป็นแผงตามต้องการ จะนำแบบหรือแม่พิมพ์ที่สร้างไว้เป็นรูปใบโพธิ์ วางทาบลงบนแผงพัดที่สานไว้ ใช้ดินสอช่างไม้ขีดตามรอยขอบของแม่พิมพ์ใช้กรรไกรชนิดตัดสังกะสีตัดตามรอยดินสอที่ขีดไว้
  การเย็บพัดสาน นำพัดสานที่ตัดตามแบบพิมพ์มาเย็บขอบพัดด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือลูกไม้สีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับพัดสาน การเย็บในสมัยก่อนใช้เย็บด้วยด้วย สมัยปัจจุบันนิยมใช้จักรเย็บผ้าเย็บเพราะสะดวกและรวดเร็วกว่าการเย็บด้วยมือ

              การใส่ด้ามพัดสาน นำด้ามพัดที่เหลาแล้วมาเจาะด้วยสว่านมือจำนวน ๒ รู นำตัว ใบพัดมาประกอบด้ามโดยใช้ตะปูหัวกลมตอกลงตามรูที่เจาะไว้ แล้วพับปลายตะปูทั้งสอง ยึดติดให้แน่น เพื่อให้พัดสานมีความคงทนและสวยงาม ใช้น้ำมันชักเงาทาเคลือบพัดทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวพัดก็จะได้พัดสานที่มีความสวยงามตามต้องการ



 
 
   
 
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2558
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน