Ran khaa ya
   
 
 

ตำนานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ตรุษจีน ปากน้ำโพ

         

           เริ่มมีการแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพเกิดขึ้นหลังจากโรคห่า (อหิวาตกโรค) และฝีดาษระบาดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2460 –2462 ชาวปากน้ำโพ ได้รับความเดือดร้อนมีผู้คนล้มตายและเจ็บป่วย เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ว่าวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้ชาวบ้านหันไปพึ่งหมอจีน (ซินแส) เพื่อช่วยรักษาโรค แต่ไม่สามารถหยุดโรคระบาดได้ ชาวบ้านจึงหันไปหาที่พึ่งจากเทพอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและมีเหตุบังเอิญ ได้มีชาวบ้านบนบานต่อเจ้าพ่อเทพารักษ์ หรือปุนเถ้ากง เพื่อขอให้ปัดเป่าโรคร้ายไปจากหมู่บ้านและได้ทำการเชิญเจ้ามาเข้าทรง เพื่อทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ฮู้” กระดาษยันต์ และนำไปเผาใส่น้ำดื่มกิน ปรากฏว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ โรคร้ายที่ได้ดับชีวิตคนในหมู่บ้านได้หยุดการระบาดลงผู้คนปราศจากโรคภัย จนเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเทพารักษ์

      ดังนั้นชาวปากน้ำโพ จึงได้ร่วมกันอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาแห่รอบตลาด เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัวตั้งแต่นั้นมา
“งานประเพณีแห่ เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพ” ในสมัยเริ่มแรกนั้นมีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แห่ไปในเส้นทางต่าง ๆ ในเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและเป็นการปัดเป่าทุกข์ภัย เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่เมือง และชาวเมืองปากน้ำโพ โดยมีการแสดงในขบวนแห่บ้าง เช่น สิงโต ล่อโก้ว ฯ แต่ด้วยเหตุที่การจัดให้มีงานแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ นี้อยู่ในช่วงของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นบรรยากาศในช่วงของการเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงมีการจัดขบวนแสดงต่างๆลงไปในขบวนแห่ ในแนวของตำนานต่างๆ เช่น การแสดงตำนานพระถังซำจั๋ง เจ้าแม่กวนอิมฯ ซึ่งในเวลาต่อมาจึงได้มีขบวนแห่ที่ประสมประสานทั้งการแห่องค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ และการแสดงต่าง ๆ ให้เกิดเป็นความรู้สึกทั้งความเป็นสิริมงคล และการเฉลิมฉลองปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนจัดให้มีการไหว้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่แล้ว
ในปัจจุบันองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ที่นำมาร่วมในขบวนแห่ ที่เรียกว่า “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ” หมายถึงองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ และเทพเจ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในศาลเจ้า 2 แห่ง คือ ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา และ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์

1.ประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา
         

           นั้นมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีตายาย คู่หนึ่งได้ฝันเห็นว่ามีหญิงชรา ผมยาวเนื้อตัวเปียกปอนมาบอกว่าลอยน้ำมาจากอยุธยาถึงนครสวรรค์หนาวมากขอให้เอาขึ้นจากน้ำทีเถอะ พอรุ่งเช้าจึงได้ไปริมแม่น้ำซึ่งมีลักษณะเป็นบริเวณน้ำวน ที่นั่นมีหน้าผาค่อนข้างสูงชัน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “หน้าผา” ได้พบไม้จันทร์ดำขนาดกว้าง 1 ฟุต สูง 2 ฟุต แกะเป็นรูปเจ้าแม่ติดอยู่ซอกหินรวมกับไม้ที่แกะเป็นรูปอื่น ๆ ได้อัญเชิญขึ้นมาพร้อมกัน และได้สร้างศาลไม้เล็ก ๆ ไว้บริเวณริมแม่น้ำ
ต่อมา เถ้าแก่ง่วนเซ้ง เจ้าของโรงแรมง่วนเซ้ง และเจ้าของโรงไม้ขายกระดาน ได้ฝันว่ามีหญิงชรา ผมยาว มาขอให้ไปช่วยสร้างศาลให้ท่านเถ้าแก่ง่วนเซ้งฝันถึงเช่นนี้ 3 วัน จึงได้ไปบอกกับนายคุงเคี้ยม ให้ช่วยเดินทางหาเจ้าแม่ที่มาเข้าฝันวันแรก และวันที่สอง เดินทางหาเลียบตามแม่น้ำขึ้นไปทางเหนือ เริ่มตั้งแต่ตรอกวิศวกรไทย (ปัจจุบันอยู่หน้าวัดนครสวรรค์) ขึ้นไปจนถึงบริเวณหน้าผาได้เห็นศาลไม้เล็ก ๆ ที่ได้สร้างไว้ชั่วคราว ที่ริมแม่น้ำ จึงได้ขอที่ดินชาวบ้านแถวนั้นสร้างเป็นศาลเจ้าให้ท่าน (บริเวณที่เป็นศาลเจ้าปัจจุบัน) และได้พัฒนามาเรื่อย ๆ จนเป็นศาลใหญ่
เจ้าแม่หน้าผา มีชื่อเดิมเรียกว่า เจ้าแม่ทองสุข หรือเจ้าแม่ลำดวนมีผู้คนทั่วไปนับถือ แม้แต่ลาวโซ่งก็เรียกว่า “เจ้าแม่ทองดำ” เนื่องจากรูปเจ้าแม่เดิมนั้นใช้ไม้จันทร์ดำแกะสลัก เชื่อว่าเจ้าแม่ชอบกินหมาก ปัจจุบันได้ปั้นรูปเจ้าแม่และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นแบบจีน และรู้จักกันในนาม “เจ้าแม่หน้าผา”

2.ประวัติความเป็นมาศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์   

          

           ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์นั้นเป็นศาลเก่าของชาวจีนนครสวรรค์ไม่ปรากฎหลักเกณฑ์ในการสร้าง แต่มีหลักฐานที่สามารถจะบอกอายุของศาลแห่งนี้ได้ คือ “ระฆัง” ที่อยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้รอบ ๆ ตัวระฆังเขียนด้วยภาษาจีนโดย “นายหงเปียว แซ่ผู่” ได้นำมาจากตำบลแม่จิว อำเภอปุ้นเชียง เกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาถวายไว้ที่ศาลเจ้าเทพารักษ์เพื่อเป็นระฆังประจำศาล ประมาณปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ.1870) (ข้อมูลจากแผ่นป้ายประกาศภายในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์) และมีเรื่องเล่ากันว่า เดิมมีศาลเจ้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) มีอยู่ด้วยกัน 2ศาล เป็นศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มีลักษณะเป็นศาลเล็ก ๆ อยู่บริเวณใกล้กัน สันนิษฐานว่าตัวศาลคงผุผัง ชาวปากน้ำโพจึงได้ร่วมกันตั้งศาลขึ้นมาใหม่ มีชื่อว่า “ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์”
ในช่วงการจัดงานเทศกาลตรุษจีน คณะกรรมการจัดงานจะตั้งศาลเจ้าชั่วคราว จำนวนสองศาลไว้ที่บริเวณถนนริมแม่น้ำ(ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา) ศาลแรกเรียกว่าศาลเหนือตั้งบนถนนอรรถกวี บริเวณข้างธนาคารกรุงไทย สาขานครสวรรค์ โดยอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ จากศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา มาประจำที่ศาลเจ้าชั่วคราวนี้ ศาลที่สองเรียกว่าศาลใต้ ตั้งบนถนนริมแม่น้ำซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ และจะอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ จากศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาประจำที่ศาลเจ้าชั่วคราวนี้ การตั้งศาลเจ้าชั่วคราวในตำแหน่งกลางเมืองนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการมาสักการะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ และเป็นการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนอีกด้วย





ที่มา : http://nakhonsawan2001.tripod.com/untitled/history.htm

 
 
   
 
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจัดทำโครงงาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2559
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
   
SITEMAP นโยบายความเป็นส่วนตัว
นโยบายการคืนสินค้า
กฎของร้าน