ที่มาและความสำคัญ
ฟักทองจัดเป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการบริโภคของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากฟักทองสามารถนำมาประกอบอาหาร เป็นทั้งอาหารหวานและอาหารคาว ส่วนเมล็ดของฟักทองมักนิยมมารับประทานเป็นของขบเคี้ยว ยอดอ่อนของฟักทองสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้เช่นเดียวกับผล ในทางโภชนาการฟักทองเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะวิตามินเอ ซึ่งช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดและยังเป็นสารแอนตีออกซิแดนซ์ที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระและยังมีส่วนช่วยในการกำจัดเซลล์มะเร็ง
ประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกฟักทองเป็นจำนวนมาก การปลูกฟักทองลงทุนไม่สูงเนื่องจากฟักทองเป็นพืชที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
|
และสามารถปลูกในสภาพดินได้เกือบทุกชนิด ใช้ระยะเวลา ในการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตน้อย ขายได้ราคาดี ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด
ดังนั้นการปลูกฟักทองจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรแต่คุณสมบัติของฟักทองโดยทั่วไป ต้นฟักทองในแต่ละต้นและในแต่ละยอดจะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ประมาณ 4 5 ผล เท่านั้น จึงทำให้มีผลผลิตค่อนข้างต่ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นการทดลองครั้งนี้จึงมุ่งเน้นที่จะ แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเพิ่มจำนวนยอดของฟักทองให้มากขึ้นใน 1 ต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตของฟักทองมากขึ้นกว่าเดิมพอเพียงกับความต้องการของตลาด
|
แนวคิด
การข่มของตายอด (apical dominance) มีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของตาข้าง เนื่องจากอิทธิพลของออกซินจากตายอดเคลื่อนที่ผ่านลงมายังตาข้าง ทำให้ออกซินที่ตาข้างเพิ่มขึ้นเป็นเหตุให้สัดส่วนของออกซินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของตาข้าง ทำให้ตาข้างไม่เจริญเติบโต แต่เมื่อเด็ด ตายอดออกซึ่งเป็นส่วนที่สร้างออกซินออกไปทำให้ไม่มีสารออกซินที่ปลายยอด เมื่อสารที่ไปยับยั้งการเจริญเติบโตของตาข้างลดน้อยลง ตาข้างจึงเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น การทำให้มีดอกเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องบังคับให้มียอดอ่อน การเด็ดยอดทิ้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ข่มของตายอด ทำให้มีการแตกยอดเพิ่มขึ้นส่งผลให้ดอกเพิ่มขึ้นซึ่งดอกจะมีการกลายไปเป็นผลทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
|