|
|
สรุปและอภิปรายผล
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาการเพิ่มผลผลิตของฟักทองโดยการหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการเด็ดยอด ได้แบ่งการทดลองออกเป็น 5 กลุ่มการทดลอง คือ กลุ่มการทดลองที่ 1 4 เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ และกลุ่มที่ 5 กลุ่มควบคุม เป็นฟักทองปลูกปกติไม่เด็ดยอด ผลการทดลองพบว่าเมื่อศึกษาฟักทองจนอายุครบ 60 วัน กลุ่มที่ 4 เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 4 มีจำนวนการแตกยอดของฟักทองมากที่สุด คือ 27 ยอด ส่วนกลุ่มที่เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 1, 2, 3 และกลุ่มควบคุม ฟักทองที่ปลูกปกติไม่เด็ดยอด มีจำนวนการแตกยอดของฟักทอง 11, 13, 18 และ 10 ยอด ตามลำดับ
ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาอัตราการรอดตายของฟักทองที่ถูกเด็ดยอด จากการศึกษาพบว่า เมื่อฟักทองอายุ 60 วัน กลุ่มที่ 1 - 4 เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ มีอัตราการรอดตายจำนวน 26, 27, 28 และ 27 ต้น คิดเป็นร้อยละ 86.7, 90.0, 93.3 และ 90.0 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ 5 กลุ่มควบคุม ฟักทองปลูกปกติไม่เด็ดยอดมีอัตราการรอดตายจำนวน 28 ต้น คิดเป็นร้อยละ 93.3
ขั้นตอนที่ 3 การเปรียบเทียบผลผลิตของฟักทองที่ปลูกด้วยวิธีการป้องกันปรากฏการณ์ตายอดข่มตาข้าง (apical dominance) กับการปลูกแบบปกติ ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ 4 เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 4 มีจำนวนดอก จำนวนผลและน้ำหนักรวมของฟักทองมากที่สุด คือ 158 ดอก 149 ผล และ 348.70 กิโลกรัม ตามลำดับ แต่มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลน้อยที่สุด คือ 2.34 กิโลกรัม กลุ่มที่ 3 เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 3 มีจำนวนดอก จำนวนผลและน้ำหนักรวมของฟักทองมากรองลงมาจากกลุ่มที่ 4 คือ 103 ดอก 98 ผล และ 324.40 กิโลกรัม ตามลำดับ มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผล คือ 3.31 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มที่ 1- 2 เด็ดยอดฟักทองเหนือข้อที่ 1, 2 และกลุ่มควบคุมฟักทองที่ปลูกปกติไม่เด็ดยอด มีจำนวนดอกเท่ากับ 59, 81 และ 46 ดอก ตามลำดับ มีจำนวนผลเท่ากับ 53, 75 และ 43 ผล ตามลำดับ มีน้ำหนักรวมของฟักทองเท่ากับ 209.30 , 269.30 และ 176.30 กิโลกรัม ตามลำดับ และมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลเท่ากับ 3.95, 3.59 และ 4.10 กิโลกรัม ตามลำดับ
จากการทดลองพบว่าการเพิ่มผลผลิตของฟักทองโดยใช้หลักการป้องกันการเกิดปรากฏการณ์ ตายอดข่มตาข้าง (apical dominance) ด้วยวิธีการปลูกฟักทองแบบเด็ดยอดเหนือข้อที่ 4 มีจำนวนการแตกยอดของฟักทอง จำนวนผลผลิตมากที่สุด แต่เมื่อหาค่าน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลพบว่ามีค่าน้อยที่สุด คือ 2.34 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักของฟักทองต่อผลที่ขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาดคือ ต้องมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 3.00 กิโลกรัมขึ้นไป ดังนั้นการปลูกฟักทองแบบเด็ดยอดเหนือข้อที่ 3 จึงถือว่าเป็นตำแหน่งที่สามารถให้ผลผลิตมากที่สุด โดยน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลของฟักทองเท่ากับ 3.31 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ตลาดต้องการ และการเพิ่มผลผลิตของฟักทองโดยใช้หลักการป้องกันการเกิดปรากฏการณ์ตายอดข่มตาข้าง (apical dominance) ด้วยวิธีการปลูกฟักทองแบบเด็ดยอดมีอัตราการรอดตายของฟักทองใกล้เคียงกัน
ประโยชน์ที่ได้รับ
1.เกษตรกรมีผลผลิตของฟักทองมากขึ้น
2.เกษตรกร มีรายได้สูงขึ้นขณะที่มีการลงทุนในการปลูกเท่าเดิม
3.เกษตรกรสามารถประกอบเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมได้
ข้อเสนอแนะ
1.การทดลองครั้งนี้ได้ทดลองปลูกฟักทองฤดูเดียวควรจะทดลองปลูกฟักทองในทุกๆ ฤดูกาล เพื่อเปรียบเทียบผลการทดลอง
2.ควรนำไปใช้กับผู้ที่ประกอบอาชีพปลูกฟักทองจำหน่ายและบริโภค
3.สามารถขยายความรู้ต่อๆ กันได้ สำหรับผู้ที่สนใจในการศึกษา
|
|
|